พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ว่า การเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยได้ร่วมลงนามความตกลงไว้ในปี พ.ศ. 2538 ภายใต้ความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน นอกจากนี้ สมาชิกทั้ง 4 ประเทศ เป็นประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน และเมียนมา รวมถึงผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความขัดแย้งและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกประเทศต่าง ๆ
พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ถือได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมของการเพาะปลูก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภูมิภาคด้วย พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุมว่าไทยสนับสนุนการพัฒนาโครงการความร่วมมือข้ามพรมแดนที่มีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของ MRC ให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและให้ประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนา และประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างแท้จริง
"ในการประชุมนี้ ผมได้ผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขงให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง เชื่อมโยง และยั่งยืน รวมถึงได้ชี้ให้ประเทศสมาชิกได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนุภูมิภาค และเตรียมพร้อมเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ นอกจากนี้ ผมได้แจ้งที่ประชุมว่าไทยสนับสนุนการพัฒนาโครงการความร่วมมือข้ามพรมแดนที่มีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำ โดยอาจเสริมสร้างบทบาทของ MRC ให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและนำองค์ความรู้ทางเทคนิควิชาการมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำอีกทั้ง ให้ประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาและประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลและองค์ความรู้ได้อย่างแท้จริง"
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เสนอให้ที่ประชุมคิดถึงแนวทางการใช้ทรัพยากรน้ำที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชนซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยง ผูกพันกัน ด้วยการแบ่งปันกัน การใช้ประโยชน์ร่วมกัน แล้วยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่มิติอื่นๆ ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป อาทิ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขการพัฒนาของแต่ละประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินความพยายามร่วมกัน การร่วมรับผิดชอบ และความเป็น "หุ้นส่วน" ที่ใกล้ชิดของประเทศสมาชิก