นายบุญทรง จันทร์ศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับใหม่แล้ว อยู่ระหว่างรอส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การปรับปรุง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ฉบับเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2517 ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาใน 17 ประเด็น ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการปรับคำนิยามเนื่องจากมีการเพิ่มกองทุนพัฒนาสังคมเข้าไป นอกจากนี้ยังมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการฯ ให้มีอำนาจหน้าที่การจัดสรรเงินรายได้ตามมาตรา 22 รวมถึงรางวัลสมทบของกองสลากที่เตรียมรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ และเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีจำหน่ายสลากเกินราคา จากเดิมที่มีโทษปรับเพียงสถานเดียว เป็นมีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท รวมถึงการห้ามจำหน่ายสลากในสถานศึกษา หรือจำหน่ายสลากให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคำสั่ง คสช.ที่ 11/2558 มีการปรับแก้ไข พ.ร.บ.บางส่วน เช่น การจัดสรรรายได้ซึ่งยังคง 60% เป็นเงินรางวัล 22% เป็นรายได้ส่งรัฐ อีก 17% เป็นการบริหารจัดการ (ซึ่งใน 17% นี้แบ่งเป็นการบริหารจัดการของสำนักงานฯ 3% และ 14% เป็นส่วนลดของตัวแทนรายย่อย) และที่เหลือ 1% เป็นสัดส่วนของกองทุนพัฒนาสังคมใช้จ่ายได้ในกรอบวงเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้พัฒนา แก้ไขปัญหาการพนัน ศึกษาวิจัยผลกระทบจากการพนัน แก้ไขปัญหาสลากเกินราคา ซึ่งที่ผ่านมามีการนำไปใช้สนับสนุนการวิจัยผลกระทบของการพนัน นำไปสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามวัตถุประสงค์ในคำสั่ง คสช.ซึ่งตอนนี้ได้ยกวัตถุประสงค์ทั้งหมดมาไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้
"ข้อแตกต่างของ พ.ร.บ.ฉบับเก่าและใหม่คือ สัดส่วน 14% ที่เป็นส่วนลดของตัวแทนรายย่อยนั้น ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับเก่าให้แค่ 7% แต่ฉบับใหม่เพิ่มเป็น 12% และอีก 2% เป็นของสมาคมองค์กรต่างๆ..เมื่อก่อนรายย่อยขายใบละ 80 บาท ได้ 5.60 บาท แต่หลังจากนี้ใบละ 80 บาท ได้เพิ่ม 9.60 บาท อย่างน้อยทำให้ผู้ค้ารายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น...นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังเพิ่มในส่วนที่เป็นสัดส่วนของกองทุนพัฒนาสังคม 1% เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของ คสช.ก่อนหน้านี้" นายบุญทรง กล่าว
รองผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เตรียมรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งเป็นสลากสมทบ ซึ่งหลังจากนี้จะศึกษาว่าจะเป็นรูปแบบใด ศึกษาผลกระทบด้านใดบ้าง มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ได้เสียอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกของประชาชนระหว่างสลากแบบที่มีอยู่กับสลากสมทบ เช่น สลากออนไลน์ การขายสลากผ่านเครื่อง ซึ่งยังต้องไปศึกษารอบด้านว่าจะมีผลกระทบกับใครบ้าง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ตลาดมีความต้องการสลากรวมชุด กำลังมีการรวบรวมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียว่าถ้าจะทำรวมชุดจะทำรูปแบบใด เช่น สลาก 5 ใบ 400 บาท เพื่อนำมาผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งวิธีนี้จะแก้ปัญหาให้ผู้ค้ารายย่อยที่อยากขายสลากรวมชุดแต่ไม่มีสินค้า ทำให้ต้องไปซื้อมาจากพ่อค้าคนกลาง