นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลกระทบของการค้าระหว่างไทยและซีเรียว่า น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยเฉลี่ยแต่ละปีไทยส่งออกสินค้าไปซีเรียคิดเป็นมูลค่าประมาณ 40-45 ล้านเหรียญฯ แต่ในปี 60 มูลค่าลดลงเหลือประมาณ 39.4 ล้านเหรียญฯ ขณะเดียวกัน ภายหลังจากเกิดการสู้รบในซีเรียในช่วงที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยไม่ได้ทำการค้าโดยตรงกับซีเรีย เพราะเกรงจะไม่ได้รับการชำระเงิน แต่ได้ส่งออกผ่านไปยังประเทศที่ 3 แทน เช่น ตุรกี โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปซีเรีย เช่น ข้าว, อาหารกระป๋อง, ปลากระป๋อง เป็นต้น
"การโจมตีซีเรียครั้งนี้ จึงไม่มีผลต่อการส่งออกของไทยมากนัก เพราะยังส่งออกผ่านประเทศติดชายแดนซีเรียได้ อย่างไรก็ตาม ทูตพาณิชย์ของไทยกำลังติดตามสถานการณ์ และรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการเคลื่อนไหวจนกระทบต่อการส่งออกโดยตรง หรือโดยอ้อม จะปรับแนวทางการส่งออกและการทำการค้าของไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ" นางจันทิรากล่าว
ด้านน.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสในซีเรียว่า จากการติดตามในเบื้องต้น พบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลังจากหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างสันติ และท่าทีของสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อรัสเซีย
ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ ชะลอการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจะส่งผลดีต่อไทย เพราะตลาดรัสเซียกำลังเป็นตลาดส่งออกดาวรุ่งของไทยในขณะนี้ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกไทยไปรัสเซีย มีมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 101.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย และเป็นตลาดอันดับที่ 35 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ คิดเป็น 46% ของการส่งออกทั้งหมดไปรัสเซีย ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
ส่วนความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมโดยสหประชาชาติ (UN) นั้น คาดว่าจะยังไม่มีมาตรการ ซึ่งจะช่วยให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพต่อไป เพราะอิหร่านมีกำลังการผลิตน้ำมัน 3.6-4.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของกำลังการผลิตน้ำมันในโลก และเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับที่ 3 ของกลุ่มโอเปก หากอิหร่านถูกคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบให้กำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกลดลง และราคาน้ำมันปรับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกและอัตราเงินเฟ้อของไทย แต่ในเบื้องต้น กระทรวงฯ ยังคงเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ไว้ที่ขยายตัว 8% จากปีก่อน และคาดการณ์เงินเฟ้อที่ 0.7-1.7%
นอกจากนี้ สนค. ยังประเมินด้วยว่า การใช้ปฏิบัติการทางทหารระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย อิหร่านในขณะนี้ ยังมีความเป็นไปได้น้อย แต่กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งหากไม่มีความรุนแรงเพิ่มเติม คาดว่าราคาน้ำมันและทองคำจะกลับมาอยู่ในระดับปกติในระยะเวลาอันใกล้ หลังจากผันผวนในในช่วงที่ผ่านมาภายหลังการโจมตี