นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานถึงความคืบหน้าการจัดทำ TOR โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม.ว่า ทางคณะกรรมการคัดเลือกได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำรายละเอียดของร่าง TOR ที่ยังมีบางประเด็นที่ต้องแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะดำเนินให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการยื่นรายละเอียดโครงการของเอกชนที่จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก่อนที่คณะกรรมการคัดเลือกจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน และคัดเลือกผู้ที่ชนะการประมูลก่อนแจ้งต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ โดยคาดว่าประมาณเดือนพฤศจิกายนน่าจะคัดเลือกหาบริษัทที่ชนะการประมูลได้
ขณะที่ความคืบหน้าของการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มีการรายงานในที่ประชุมว่าจะดำเนินการในเฟสแรกให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องแรงงานที่จะเข้าไปทำงานในเมืองอัจฉริยะ เพราะในแต่ละเมืองจะมีแรงงานจำนวนมาก ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดูแลในเรื่องนี้ ทั้งเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ในการจัดที่อยู่อาศัย ซึ่งทางบีโอไอจะเสนอแนวทางดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอพิจารณาในวันที่ 9 พ.ค.61
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการอีอีซีพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในเมืองใหม่ ทั้งเรื่องของเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในเมืองใหม่ รวมถึงเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดเมืองใหม่ที่มีความเป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะประกอบด้วย 6 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การคมนาคม พลังงาน การอยู่อาศัย และการบริหารจัดการ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ไปดูในเรื่องของความร่วมมือกับเอกชนในการพัฒนาเมือง
ส่วนกรณีที่นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบากรุ๊ป และคณะผู้บริหาร จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งจะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย.) นั้นจะมีการหารือถึงความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องของการนำสินค้าเกษตรไปขายในจีน การนำเอสเอ็มอี และสินค้าโอท็อปของไทยให้เข้าไปอยู่ในเว็บไซต์ของเครือข่ายอาลีบาบา ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการลงทุนในด้านดิจิตอลฮับ จะใช้งบประมาณลงทุนรอบแรกในหลักหมื่นล้านบาท โดยการหารือวันพรุ่งนี้เป็นผลจากการหารือมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ไทยหวังให้อาลีบาบาได้เข้ามาช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยของไทย และจะมีการหารือเรื่องการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของไทยด้วย