นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ตั้งกองทุนส่วนบุคคลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นว่า ขณะนี้กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการออกเกณฑ์มากำกับการลงทุนในหุ้นของสหกรณ์ไม่ให้เกิน 20% ของทุนเรือนหุ้นรวมทุนสำรอง คาดว่า ในเร็วๆ นี้ จะได้ข้อสรุปและสามารถผลักดันออกมาได้
อย่างไรก็ดี เกณฑ์กำกับดังกล่าวเมื่อออกมาแล้วอาจทำให้สหกรณ์ประมาณ 10 แห่งได้รับผลกระทบ เพราะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเกินกว่า 20% ซึ่งจากการสำรวจพบว่า สหกรณ์เหล่านี้นำเงินไปลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหา กรมฯ กำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางผ่อนเกณฑ์การบังคับ ด้วยการขยายเวลาให้สหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวได้ทัน และค่อยๆ ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงปีละ 20% จนกลับเข้ามาอยู่ในระดับที่เกณฑ์กำหนด
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ในกรณีที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ มาตรา 62 (7) ซึ่งจะมีประกาศของคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ กำหนดรายละเอียดของการลงทุนไว้ชัดเจน ด้วยการให้สหกรณ์ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหุ้นที่ลงทุนนั้นจะต้องเป็นหุ้นของ บจ.ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า A- และต้องเป็นหุ้นที่มีการค้ำประกัน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมดที่นำเงินไปลงทุนลักษณะดังกล่าวพบว่า ขณะนี้ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ และไม่ได้มีข้อกังวลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการลงทุนของสหกรณ์ต่างๆ ที่นำเงินไปลงในหุ้นนั้น พบว่า ปัจจุบันมีวงเงินรวมกันประมาณ 180,000 ล้านบาท และทั้งหมดเป็นการลงทุนในหุ้นที่ไม่ต่ำกว่าระดับ A- โดย บลจ.ส่วนใหญ่ที่ทางสหกรณ์นำเงินไปลงทุนถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง จึงมีโอกาสเสียหายน้อยและความเสี่ยงน้อย ยกเว้นในกรณีของบริษัทเหล่านี้เกิดปัญหาและถูกจัดอันดับให้ต่ำลงจนถึงระดับ B กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าไปตรวจสอบและหาทางแก้ปัญหา แต่เหตุการณ์ในลักษณะนี้ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดขึ้น แต่เพื่อสร้างความมั่นใจทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
"กรณีที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ที่นำเงินลงไปหุ้นเหล่านี้ยังอยู่ในระดับที่กรมฯ คุมได้ ถ้าสหกรณ์ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตามประกาศ แล้วมีการตรวจสอบอยู่เสมอ จะไม่มีความเสี่ยง ที่ผ่านมาเมื่อกรมฯ ไปตรวจเจอถ้าเป็นหุ้นเกรดต่ำกว่านี้ก็สั่งให้แก้ไข ซึ่งการลงทุนนั้นนับว่ามีความเสี่ยง กรมฯ จึงเตือนสหกรณ์ต่างๆ ว่า ต้องติดตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพราะมีความผันผวนโดยตลอด ไม่รู้ว่าโตขึ้นหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจโตตลาดทุนก็ต้องการเงินขยายธุรกิจหุ้นขึ้น เมื่อเศรษฐกิจซบเซาหุ้นลง การลงทุนไม่มี ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ดอกเบี้ย 5-6% ก็เหลือ 3-4% แล้วกรรมการที่บริหารสหกรณ์ก็ไปแบกรับความคาดหวังสมาชิกได้เงินปันผลต่อปี จึงอาจทำให้เกิดเสียหายขึ้นมาได้" นายวิศิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในแนวทางการควบคุมที่ผ่านมา กรมฯ ควบคุมเฉพาะการลงทุนให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ โดยที่ไม่ได้จำกัดวงเงินการลงทุน เพราะการลงทุนในลักษณะนี้เมื่อก่อนปี 2542 ไม่เคยเกิดขึ้น จนกระทั่งหลังปี 2542 กฎหมายเปิดให้ลงทุนได้ และในช่วงประมาณ 3-4 ปีให้หลังมานี้ สหกรณ์ต่างๆ มีเงินอยู่ในระบบจำนวนมาก จึงหาช่องทางไปลงทุนต่อ