นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า ในฐานะสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความพร้อมขอผลักดันให้ภาครัฐเร่งประกาศนโยบายการใช้ B10 โดยเร็วที่สุด และปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลให้เหมาะสมตามสถานการณ์เพื่อเป็นการทางเลือกในการแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศคู่แข่ง ด้านการผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศใช้ B20 ตั้งแต่ปี 59 ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีความพยายามผลักดันการใช้ B10 และมีแนวโน้มว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าการเพิ่มสัดส่วนการผสมเป็น B10 ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายศาณินทร์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มมากกว่า 5 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตในรูปน้ำมันปาล์มดิบ 2.63 ล้านตันในปี 60 และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการหลัก คือ การใช้ในอุตสาหกรรมบริโภคและการผลิตไบโอดีเซลภายในประเทศอยู่ที่ 1.17 ล้านตัน/ปี และ 0.97 ล้านตัน/ปีตามลำดับ ดังนั้นสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจึงเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับปรกติ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาทะลายปาล์มน้ำมันลดลง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในวงกว้าง
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล และในกรณีน้ำมันปาล์มขาดแคลน ภาครัฐได้มีนโยบายปรับลดสัดส่วนการผสมเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วน 7% (B7) คิดเป็นความต้องการใช้เฉลี่ย 4.2 ล้านลิตร/วัน ขณะที่มีผู้ประกอบการ 13 รายที่มีความสามารถ ในการผลิตไบโอดีเซลรวมทั้งสิ้น 6.6 ล้านลิตร/วัน และจะเพิ่มสูงกว่า 8.0 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 61
อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มที่สูงกว่าความต้องการอย่างต่อเนื่อง การแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ในขณะนี้ คือ การส่งออกน้ำมันปาล์ม และด้วยกลไกของตลาดส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศลดลงต่ำกว่าราคาตลาดโลก ภาครัฐต้องแทรกแซงราคาโดยใช้เงินสนับสนุน ประกอบกับการส่งออกต้องพึ่งพานโยบายและความต้องการใช้ของประเทศผู้ซื้อ นับเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเร่งสนับสนุนความต้องการใช้ภายในประทศที่เพิ่มมากขึ้น
นายศาณินทร์ กล่าวว่า การขยับนโยบายจากการใช้ B7 เป็น B10 จะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นตัน/เดือน หรือราว 5.4 แสนตัน/ปี ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินได้ โดยปีที่ผ่านมาไทยมีผลผลิตในรูปน้ำมันปาล์มดิบ 2.63 ล้านตัน แบ่งเป็นการใช้ในอุตสาหกรรมบริโภคราว 1 ล้านตัน และไบโอดีเซล (B100) ราว 1 ล้านตัน ทำให้มีน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินราว 6 แสนตัน นอกจากนี้ยังจะช่วยพยุงราคาทะลายปาล์มให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ตลอดจนลดการนำเข้าน้ำมันดีเซล และช่วยลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้ B10 ในปัจจุบันก็อาจจะทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 19 บาท/กิโลกรัม (กก.) และราคาไบโอดีเซล มีการซื้อขายจริงที่ราว 20 บาท/ลิตร ซึ่งต่ำกว่าราคาแนะนำจากภาครัฐที่อยู่ระดับ 22-23 บาท/ลิตร เพราะมีการแข่งขันสูง โดยราคาไบโอดีเซลดังกล่าวใกล้เคียงราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่ระดับ 17.63 บาท/ลิตร ซึ่งการนำไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 10% เพื่อเป็น B10 นั้น แม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นราว 20 สตางค์/ลิตร แต่เชื่อว่าผู้ผลิตไบโอดีเซล จะสามารถดูแลให้ราคา B10 ที่จำหน่ายหน้าสถานีบริการน้ำมันไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินระดับ 10 สตางค์/ลิตร ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครับได้ เนื่องจากผู้ผลิตน่าจะสามารถผลิตไบโอดีเซลได้เพิ่มขึ้นทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง จากปัจจุบันที่ผู้ผลิตทั้ง 13 ราย มีการใช้กำลังการผลิตเพียง 60% ของกำลังการผลิตรวม 6.6 ล้านลิตร/วัน
"การหันมาใช้ B10 จะทำให้โครงสร้างราคาไบโอดีเซลอาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่ากระทรวงพลังงานจะทำให้มีการซื้อขายที่เป็นธรรม และสูตรราคาสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด"นายศาณินทร์ กล่าว
นายศาณินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบกว่า 4 แสนตัน และประมาณการว่าถึงสิ้นปี 61 จะมีปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบมากถึง 5.6 แสนตัน ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการอย่างใดก็จะทำให้กดดันต่อราคาผลปาล์มให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ประกอบกับปีนี้ผลผลิตปาล์มตลาดโลกน่าจะดีมากต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในไทยที่ยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มต่อเนื่องทำให้คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกปาล์มมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ล้านไร่ภายใน 3-5 ปีจากกว่า 5 ล้านไร่ในปัจจุบัน ซึ่งก็จะกดดันให้ราคาผลปาล์มยังอยู่ที่ราว 3 บาท/กิโลกรัม
สำหรับแนวทางการลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบด้วยการส่งออกนั้น ปัจจุบันไทยยังไม่มีความพร้อมมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีการใช้ในประเทศเป็นหลัก ทำให้มีสาธารณูปโภคที่รองรับการส่งออกไม่ได้มาก ขณะที่มองว่าการใช้นโยบาย B10 น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบได้ดีกว่า แต่การใช้ B10 ยังคงมีอุปสรรคจากการที่ค่ายรถยนต์ยังไม่มีความมั่นใจ โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานจริงซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งผู้ผลิตไบโอดีเซลมีความพร้อมที่จะปรับคุณสมบัติไบโอดีเซลให้เหมาะสมกับความเห็นของค่ายรถยนต์ แต่ทางค่ายรถยนต์ก็ยังไม่ได้แสดงเจตจำนงค์ที่ชัดเจนออกมา จึงอยากให้กระทรวงพลังงานช่วยประสานค่ายรถยนต์ เพื่อที่จะให้ผู้ผลิตสามารถปรับคุณสมบัติไบโอดีเซลให้ได้ตรงกับความต้องการของเครื่องยนต์มากที่สุด
ด้านนายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) กล่าวว่า จากการที่บริษัทต้องซื้อน้ำมันปาล์มดิบที่ราคา 19 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายไบโอดีเซลที่มีการแข่งขันในตลาดอยู่ที่ราว 20 บาท/ลิตรนั้น ส่งผลกระทบต่อมาร์จิ้นของการผลิตไบโอดีเซล หรือเมทิลเอสเทอร์ ของบริษัท แต่การมีกลีเซอรีนเป็นผลพลอยได้ออกมาด้วยทำให้ยังสามารถทำกำไรได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงงานไบโอดีเซล แห่งที่ 2 ขนาด 2 แสนตัน/ปี ที่กำลังจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/61 นั้น ก็จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไบโอดีเซล เพิ่มเป็น 5 แสนตัน/ปี ซึ่งหากสถานการณ์ไบโอดีเซลยังเป็นอยู่ในลักษณะปัจจุบัน บริษัทก็จะหันมาเน้นการผลิตจากโรงงานแห่งที่ 2 เป็นหลัก เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าโรงแรกที่ปัจจุบันมีการผลิตเต็มกำลังที่ 3 แสนตัน/ปี
อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณไบโอดีเซลคงเหลือจากความต้องการใช้ในประเทศ บริษัทก็จะหันมาส่งออกเป็นหลัก โดยเน้นไปที่ตลาดยุโรปเป็นหลักก่อน รองลงมาเป็นไต้หวัน และจีน เป็นต้น