นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไทยแสดงความตั้งใจที่จะร่วมมือกับอาลีบาบาโดยทำหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2559 และพิธีการในวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศความร่วมมือดังกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยและบริษัทในเครืออาลีบาบากรุ๊ปที่มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ในเวทีโลกผ่านนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่าง ๆ ได้
"อาลีบาบา ได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างดิจิทัลฮับ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในนโยบายประเทศไทย 4.0 และอนาคตที่สดใสของเศรษฐกิจไทย โดยดิจิทัลฮับที่จะสร้างขึ้นนี้ นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยง SMEs ไทยในทุกระดับ ทุกท้องถิ่น รวมถึงกลุ่ม OTOP และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนและตลาดโลก ความร่วมมือกับอาลีบาบาที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อ SMEs และเกษตรกรของไทย ซึ่งจะขยายไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะเดียวกันยังจะเป็นแรงเสริมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า การเข้ามาของกลุ่มอาลีบาบาในช่วงนี้ถือว่าเหมาะสมกับจังหวะเวลา เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นช่วงขาขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวเกิน 4% อย่างแน่นอน ซึ่งการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยจังหวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้าง SMEs ให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล, การปฏิรูปภาคเกษตรให้สามารถพัฒนาสินค้าไปขายในตลาดโลกได้, การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอนาคต
"การเลือกกลุ่มอาลีบาบาเข้ามาไม่ใช่เพราะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ท่านประธานมี Big Heart ที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคม ไม่ได้เน้นที่ผลกำไร ไม่ใช่แค่มีเงิน หวังจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้" นายสมคิด กล่าว
นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา กล่าวว่า ด้วยจุดแข็งในเรื่องผู้คนและวัฒนธรรมของไทย ประกอบกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้เรามั่นใจในอนาคตและศักยภาพการเติบโตของไทย ทั้งนี้ กลุ่มอาลีบาบายืนยันที่จะเป็นพันธมิตรในระยะยาวกับประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกดิจิทัล
"ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นการสร้างอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่แค่การเข้ามาเพื่อทำธุรกิจ...ถ้าจะเข้ามาทำธุรกิจคงคุยกันไม่นานแค่เดือนเดียวก็เรียบร้อย แต่นี่ใช้เวลาวางแผนงานร่วมกันถึง 8 เดือน ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย และให้ความมั่นใจว่าเป็นการเข้ามาลงทุนในระยะยาว เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ยั่งยืน จุดเริ่มต้นครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่อาจจะยาก แต่จะไม่ทำให้ผิดหวัง...ความร่วมมือครั้งนี้จะวิน วิน วินทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ทั้งภาคีเครือข่าย และทั้งอาลีบาบา" นายแจ๊ค หม่า กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้ระบุอีกว่า ต้องการผลักดันการค้าเสรี ไม่ชอบให้เกิดสงครามการค้า หรือสงครามในรูปแบบใด เพราะไม่ส่งผลดีต่อใคร เกิดแล้วจบยาก การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะไม่ได้เป็นการผูกขาด แต่ต้องการช่วยผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความเชื่อมั่นในเรื่องของเทคโนโลยีเหมือนกันให้สามารถแข่งขันได้
ทั้งนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่น โดยเฉพาะความพร้อมในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม วัฒนธรรม และอาหารที่อร่อย นอกจากนี้ยังชื่นชมอุปนิสัยใจคอของคนไทยที่มีรอยยิ้มให้กับทุกคน
"ผมจะนำทรัพยากรที่สร้างสมมา 19 ปีมาทำประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ โดยไม่ได้คิดที่จะไปแข่งขันกับใคร ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ใดๆ" นายแจ๊ค หม่า กล่าว
สำหรับความร่วมมือในโครงการหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ประกอบด้วย -โครงการจัดตั้งศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่อีอีซีเพื่อส่งเสริมการค้ากับจีนและกลุ่ม CLMV โครงการลงทุนจัดตั้งศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC นี้จะอาศัยเทคโนโลยีระดับโลกของอาลีบาบาในด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ ผ่าน ไช่เหนี่ยว (Cainiao Network) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของอาลีบาบา เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานกับกรมศุลกากรในการยกระดับพิธีการทางศุลกากรให้เป็นระบบดิจิทัลด้วย ซึ่งการตั้งศูนย์ Smart Digital Hub นี้ จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาดิจิทัล ซึ่งสำนักงาน EEC จะเชื่อมประสาน Smart Digital Hub กับ เขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์ค (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถทำพิธีวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้าง Smart Digital Hub ได้ภายในปี พ.ศ. 2561 และคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2562 ต่อไป
- โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย อาลีบาบาได้เสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) ซึ่งเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรของอาลีบาบา ที่ตั้งอยู่ที่เมืองหางโจว ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซของ SMEs ไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศ รวมถึง SMEs ในชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย โดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ ได้เรียนรู้และเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีไทยให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ และเข้าถึงตลาดจีนที่มีผู้บริโภคอยู่ไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน รวมถึงตลาดในภูมิภาคและตลาดสากลได้ตามลำดับ (Regional and Global Value Chain) โดยอาลีบาบาจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยอาศัยเครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานภูมิภาคของกระทรวงพาณิชย์ทั่วประเทศ
- โครงการอบรมพัฒนาดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) นอกจากการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ผ่านอีคอมเมิร์ซแล้ว Alibaba Business School ยังจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) ในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาหลายหลักสูตร โดยเปิดโอกาส ให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐไปร่วมเข้าโครงการฝึกอบรมพัฒนาในด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสร้างเครือข่าย (Networking) กับดาวเด่นหรือ Talents ทั่วโลกที่ประเทศจีน
- กระทรวงพาณิชย์และอาลีบาบายังได้ร่วมกันเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com ซึ่งเป็นเว็บซื้อขายออนไลน์ระดับโลกที่เน้นร้านค้าแบรนด์ชั้นนำหรือร้านค้าตัวแทนที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดขายผลิตผลทางการเกษตรเริ่มต้นจากข้าว และขยายผลไปถึงผลไม้ต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงพาณิชย์และอาลีบาบาจะร่วมกันผลักดันการส่งออกข้าวไทยและผลิตผลทางการเกษตรของไทย โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกหรือ Insight ในเรื่องตลาดผู้บริโภคที่อาลีบาบามีความเชี่ยวชาญ
- โครงการความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัล โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะร่วมมือกับอาลีบาบาและฟลิกกี้ (Fliggy) บริษัทด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของจีน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัลและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวรายย่อยในไทย โดย Fliggy คู่ร่วมลงนามกับ ททท. จะใช้ประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดจัดทำ Thailand Tourism Platform ให้กับสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น คู่มือไกด์ออนไลน์ ระบบจำหน่ายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการเจียระไนแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจซึ่งเปรียบเสมือนอัญมณีที่ถูกซ่อนเร้นให้ส่องประกายเตะตานักท่องเที่ยวชาวจีน
ทั้งนี้ Fliggy และ Ant Financial ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการระบบขำระเงิน Alipay ในเครือของอาลีบาบาอยู่ในระหว่างการเจรจากับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลแบบครบวงจรต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่กระบวนการทางวีซ่า บริการหลังเดินทางแบบดิจิทัล ด้วยการคืนเงินภาษีนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Alipay ซึ่งความร่วมมือกันในด้านการท่องเที่ยวนี้ คาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน และยังช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยได้มากยิ่งขึ้น
ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนของกลุ่มอาลีบาบาจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรสาขานี้อย่างมาก
"การเข้ามาของอาลีบาบาจะเป็นประโยชน์มหาศาล สร้างแรงบันดาลใจเรื่องการศึกษา เพราะเราขาดแคลนบุคลากรสาขานี้อย่างมาก เด็กที่จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แต่ละปีมีน้อย และไปทำงานเป็นดปรแกรมเมอร์ไม่ถึง 10%" นายสุชัชวีร์ กล่าว
สิ่งที่อยากให้รัฐบาลพิจารณาเร่งด่วนคือการผลิตบุคลากร เพราะนักเรียนสาขาอาชีวะศึกษามีสัดส่วนเพียง 30% และไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งที่เรียนมาไม่สามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันได้
"อยากให้มาช่วยพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัลมีเดีย เพื่อจะได้ไปช่วยยกระดับ SME" นายสุชัชวีร์ กล่าว