นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ อดีตผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า การชะลอกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกไปจะทำให้เรื่องที่อยู่ระหว่างการรอการดำเนินงานต้องล่าช้าออกไป อาทิ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ รวมถึงย่านความถี่ที่จะนำออกมาประมูลในอนาคตอาทิ 2300 เมกะเฮิรตซ์, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ700 เมกะเฮิรตซ์ แม้ก่อนหน้านี้ กสทช.จะยกร่างหลักเกณฑ์การประมูลและเปิดทำประชาพิจารณ์ไปแล้วแต่เนื่องจากการตัดสินใจดำเนินการจัดประมูลเป็นการตัดสินใจของบอร์ด จึงต้องรอให้ได้คณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจก่อน
"ถึงแม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้เคยทำจดหมายตอบข้อสงสัยของบอร์ดชุดรักษาการที่ถามถึงอำนาจในการจัดการประมูลไปและได้รับคำตอบว่าสามารถจัดการประมูลได้แต่ในการประชุมบอร์ดกสทช. ชุดรักษาการรอบล่าสุดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน" นายสืบศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่รอการดำเนินการ อาทิ มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทั้งทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมหรือกรณีพิพาทและความชัดเจนในกิจการดาวเทียมกรณีการเยียวยาคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จากการประมูลครั้งที่ผ่านมาการจัดสรรความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม หรือแม้แต่เรื่องสำคัญอย่างกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในแง่ข้อมูลและ SMS ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรอกรรมการกสทช. ลงมติดำเนินการทั้งสิ้น
อนึ่งในวันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติไม่เลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 เนื่องจากรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ จำนวน 8 ใน 14 รายตามที่เลขาธิการวุฒิสภาเสนอมานั้น มีคุณสมบัติต้องห้าม และขาดจริยธรรม