(เพิ่มเติม2) กบง.มีมติปรับเกณฑ์คำนวณราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นหนุนราคาขายส่งลดลง ,ไม่บังคับโรงกลั่นเหตุเป็นการแข่งขันเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 20, 2018 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ว่า ที่ประชุมมีมติปรับโครงสร้างเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเห็นชอบให้ใช้เกณฑ์ราคา Euro IV เป็นฐาน จากวิธีเดิมที่ใช้ Euro III เป็นฐาน ทั้งนี้ จะส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ซึ่งเป็นเพียงราคาอ้างอิงของรัฐบาล ไม่ได้เป็นการบังคับให้โรงกลั่นน้ำมันต้องปฏิบัติตาม แต่ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณการแข่งขันของตลาดที่เข้มข้นขึ้น

โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว โดยการตัดค่าปรับปรุงคุณภาพจาก Euro III เป็น Euro IV ทำให้สูตรใหม่เป็นการอิงกับมาตรฐาน Euro IV ซึ่งเป็นสากล รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างการคำนวณค่าขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ที่มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น ทำให้การปรับวิธีการคำนวณดังกล่าวส่งผลเมื่อเทียบราคาน้ำมัน ณ วันนี้ จะทำให้ราคาขายส่งน้ำมันหน้าโรงกลั่นมีส่วนลดลงไป สำหรับน้ำมันดีเซล 41 สตางค์/ลิตร ,น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 61 สตางค์/ลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 43 สตางค์/ลิตร

นายศิริ กล่าวอีกว่า ในวันนี้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงมติ กพช.ที่อนุมัติให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์และดีเซล ลง 15 สตางค์/ลิตร เป็นระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า จากเดิมที่เก็บ 25 สตางค์/ลิตร ก็จะลดลงเหลือ 10 สตางค์/ลิตรตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้รายได้เข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ฯ ลดลงเหลือ 3,500 ล้านบาท/ปี จากเดิมที่ 9,000 ล้านบาท/ปี จากสถานะกองทุนปัจจุบันอยู่ที่ราว 41,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับมติ กบง.ที่ปรับปรุงเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นในวันนี้ จะทำให้ราคาขายส่ง (ก่อนรวมค่าการตลาดและจัดจำหน่ายตามสถานีบริการ) ลดลงได้ 60-80 สตางค์/ลิตรสำหรับน้ำมันทุกประเภท

นายศิริ กล่าวว่า ในส่วนราคาขายปลีกจะปรับลดลงในอัตราเท่ากับขายส่งหรือไม่นั้น ขึ้นกับผู้ค้าน้ำมันแต่ละรายเพราะตลาดน้ำมันเป็นการแข่งขันเสรี แต่ราคาขายปลีกน้ำมันทุกประเภทจะปรับลดลงอย่างน้อย 15 สตางค์/ลิตรในวันพรุ่งนี้ ตามการลดเงินนำเข้าของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานดังกล่าว โดยการออกมาตรการในวันนี้เพื่อจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถรองรับได้ราว 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

"การขายปลีกก็จะมีการแข่งขัน โดยที่เราเดินต่อไปข้างหน้าค่าการตลาดจะเปิดให้ผู้ค้ามีการแข่งขันด้านการตลาดด้วย การขายปลีกเป้าหมายจะไม่มีการกำหนดค่าการตลาด แต่จะมีการติดตามและเปิดให้ผู้ค้ามาตรา 7 และสถานีบริการต่าง ๆ มีการแข่งขันได้เต็มที่ เราคาดว่าการปรับโครงสร้างราคาและกระบวนการในการติดตามค่าการตลาดที่เราเปลี่ยนใหม่ได้ปรับปรุงขึ้นนี้จะทำให้เกิดการแข่งขัน และเป็นการส่งสัญญาณว่าราคาขายปลีกจะต้องมีการแข่งขันกัน...ในส่วนโรงกลั่นทุกวันนี้มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว การปรับครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าการแข่งขันเข้มข้นขึ้น เรื่องดัชนีต่าง ๆ มีความชัดเจนขึ้น โดยโรงกลั่นไม่จำเป็นต้องปรับลดราคาหน้าโรงกลั่นในอัตราใหม่ครั้งนี้ เพราะเป็นเพียงราคาอ้างอิงของรัฐบาลไม่ได้เป็นการบังคับ"นายศิริ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า โรงกลั่นน้ำมันสามารถที่จะใช้สูตรการคำนวณซื้อขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นในปัจจุบันได้ตามปกติ เพียงแต่การปรับสูตรของภาครัฐครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่เหมาะสมเท่านั้น ส่วนคู่ค้าจะเจรจากันอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการแข่งขัน สำหรับค่าการตลาดขายปลีกน้ำมันในปัจจุบันยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ทางภาครัฐใช้ในการติดตามนั้นก็เป็นตัวเลขภายในที่รัฐบาลใช้ดูแลซึ่งในแต่ละพื้นที่มีอัตราไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ที่ประชุม กบง.ยังได้รับทราบรายงานว่าจากสถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตลาดโลก (CP PRICE) ในช่วงเดือนเม.ย.61 ราคาอยู่ที่ 472.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน มี.ค.สำหรับสถานการณ์ราคาอ้างอิงรายสัปดาห์หรือ LPG Cargo เดือนเม.ย.61 เฉลี่ยวันที่ 1-16 เม.ย.61 อยู่ที่ 447.42 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 6.60 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน (เดือนมี.ค.61 อยู่ที่ 454.01 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน) แม้ว่าทิศทางราคารายสัปดาห์จะยังผันผวนอยู่ค่อนข้างมาก แต่สถานการณ์ในประเทศนั้น ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนเม.ย.61 ในส่วนการผลิตและจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ 1) มีรายรับ 150.18 ล้านบาท/เดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ 2) มีรายจ่าย 618.65 ล้านบาท/เดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายสุทธิ ในส่วนของ LPG 468.47 ล้านบาท/เดือน ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบระดับที่เคยอุดหนุนสูงถึง 900 ล้านบาท/เดือน

ด้านแหล่งข่าวจากโรงกลั่นน้ำมัน ระบุว่า การที่ กบง.ปรับเกณฑ์คำนวณโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว เพื่อใช้อ้างอิงเป็นแนวทางคำนวณการจัดเก็บเงินภาษี ,เงินกองทุนและค่าการตลาดน้ำมัน ในขณะที่การซื้อขายหน้าโรงกลั่นเป็นไปตามสภาพตลาดการค้าเสรี ทั้งนี้ มาตรฐานน้ำมันในประเทศไทยก็ยังมีความแตกต่างกับมาตรฐานน้ำมันอ้างอิงที่สิงคโปร์ ทำให้ยังต้องมีการปรับส่วนต่างคุณภาพด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ