พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ในฐานะที่บ้านเมืองของเราเป็น "ชาติเกษตรกรรม" รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างมากที่จะดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิต ของเกษตรกร อาทิ การส่งเสริมสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยส่งเสริมระบบ "การทำเกษตรแปลงใหญ่" มาใช้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ทั้งการปลูกพืชสวนไร่นา - ประมง – ปศุสัตว์ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ตามแนวคิด "การตลาดนำการผลิต" การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ อีกทั้ง สนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรมืออาชีพก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน - ถิ่นเกิดของตนอย่างยั่งยืน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง เพื่อไม่ทำร้ายสุขภาพ เกษตรกรและผู้บริโภค และ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม - ดิน - น้ำ - อากาศด้วย
ปัจจุบัน รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยจัดสรรเงินงบประมาณ ราว 150,000 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการในหลากหลายมิติ ส่วนหนึ่งก็เป็นเป็นแผนงาน - โครงการด้านการปฏิรูปโครงสร้าง การผลิตภาคการเกษตรกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรด้วยการ "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้" เพื่อจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเริ่มที่ตัวเกษตรกรก่อน ตามแนวทาง "ประชารัฐ" ซึ่งต้องมีการทำประชาคม การรับฟังปัญหาระดับชุมชน การสำรวจความต้องการ และปัญหาแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป
โครงการไทยนิยมยั่งยืน มีหลักการสำคัญ 3 ประการ นอกเหนือจากการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร ทั้งระบบดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาเชิงพื้นที่อีกด้วย ทั้งนี้ การขับเคลื่อน "กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน อย่างยั่งยืน" ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องตามพระราชบัญญัติ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ภายใต้ปรัชญาในการเสริมสร้างสำนึก ความเป็นชุมชนและท้องถิ่น โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และ จัดการหมู่บ้านและชุมชน ด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง เป็นการ "ระเบิดจากข้างใน" เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน โดยจะ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งชุมชน หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน และประชาสังคม ตามแนวทาง "ประชารัฐ" กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและ พัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทของท้องถิ่นที่จะต้องมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ในการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้านฯ นี้ ในอดีตอาจยังมีปัญหาอยู่บ้าง รัฐบาลนี้เข้ามาจัดระบบ จัดระเบียบใหม่ ให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองให้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ได้โดยตรง โดยจะเป็น "แหล่งเงินทุนหมุนเวียน" สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย อย่างแท้จริง หรือใช้สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิการ อาทิ ตลาดประชารัฐ - แหล่งท่องเที่ยวชุมชน หรือประโยชน์เพื่อส่วนรวมอื่นใด ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน หรือชุมชนเมือง ในการบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนสำหรับลูกบ้าน - ชาวชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกอีกด้วย ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านฯ ทั่วประเทศ เกือบ 80,000 กองทุนนะครับ มีสมาชิก ราว 13 ล้านคน เมื่อรัฐบาลนี้ เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน "รายกองทุน" เพื่อแบ่งกลุ่ม
สำหรับกำหนดมาตรการสนับสนุนให้เหมาะสม ในแต่ละประเภท ดังนี้ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีผลการประเมินในระดับดีมาก เกรด A และระดับดีเกรด B รวมกันราว 60,000 กองทุน หรือร้อยละ 76 ใช้มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ โดยการจัดสรรวงเงิน สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ ส่วนกองทุนฯ ที่มีผลการประเมินในระดับปานกลาง เกรด C และระดับต้องปรับปรุง เกรด D รวมกันเกือบ 20,000 กองทุน กว่าร้อยละ 23 ให้ดำเนินการทุกมิติ เพื่อพลิกฟื้นให้กองทุนเหล่านั้น สามารถกลับมาเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน ให้ได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ ในปี 2559 ได้จัดโครงการเพิ่มความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 35,000 ล้านบาท สำหรับให้กองทุนหมู่บ้านฯ นำไปลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ลดภาระต้นทุน ขยายโอกาสทางการตลาด แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน ซึ่งมีกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับอนุมัติโครงการ มากกว่า 66,000 กองทุน คิดเป็นในวงเงินงบประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 95 ของเป้าหมาย ต่อมาปี 2560 รัฐบาลได้จัด งบประมาณเพิ่มเติมอีก 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านฯ อย่างต่อเนื่อง มีกองทุนที่ได้อนุมัติโครงการ มากกว่า 61,000 กองทุน รวมวงเงินงบประมาณกว่า 12,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 80 ของเป้าหมาย โดยรวมแล้วทำให้เกิดโครงการต่าง ๆ มากมาย หลากหลายมิติ ทั่วประเทศ อาทิ โครงการร้านค้าชุมชน น้ำดื่มชุมชน ปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ บริการงานชุมชน บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เกษตรฟาร์มรวม ลานตากอเนกประสงค์ และโรงสีข้าวชุมชน เป็นต้น รวมทั้งสิ้น กว่า 120,000 โครงการในปัจจุบัน
ตัวอย่าง โครงการด้านการท่องเที่ยวและบริการ "ระดับท้องถิ่น" ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่เราควรให้ความสนใจ ได้แก่ "อุทยานธรณีโลก" ในจังหวัดสตูลที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ที่ผ่านการประเมินหลักเกณฑ์ของ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมานับเป็นอุทยานธรณีโลก แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีซากฟอสซิล ชั้นหิน ชั้นดิน ซึ่งเป็นจุดน่าสนใจทางธรณีวิทยา อีกทั้ง มีเทือกเขาหินปูน ถ้ำ เกาะ ชายหาด และล่องแก่ง ที่เป็นจุดขาย สำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้ กลไกประชารัฐและชุมชน ต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ การต้อนรับผู้มาเยือน การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดูแลเรื่องราคา และความปลอดภัยต่าง ๆ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ณ แหล่งท่องเที่ยว อาทิ เส้นทางจราจร พื้นที่จอดรถ เขตสุขาภิบาล การโซนนิ่งพื้นที่ เราต้องพิจารณาให้ครบวงจร เป็นขั้นเป็นตอน ให้ได้มาตรฐาน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง เริ่ม "ระเบิดจากข้างใน" และชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ทรุดโทรม เพราะจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ นำรายได้มาสู่ชุมชนของท่าน โดยรัฐบาล ก็จะเข้าไปสนับสนุนในภาพรวม ของเศรษฐกิจมหภาคด้วย
สำหรับปี 2561 นี้ รัฐบาลได้เตรียมการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองผ่าน "โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ" วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กองทุนหมู่บ้านฯ กองทุนละไม่เกิน 300,000 บาท เพื่อต่อยอดโครงการเดิม หรือสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินโครงการที่รวมกันหลายกองทุนหมู่บ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้โอกาสประชาชนบริหารจัดการและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนด้วยทรัพยากร ภูมิปัญญา และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยสนับสนุนการประกอบอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดย "ศาสตร์พระราชา" ซึ่งจะอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตามแนวทาง "ประชารัฐ" ตลอดจนได้นำกรอบแนวทางตาม "โครงการไทยนิยมยั่งยืน" 10 เรื่อง มาพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการ โดยเน้นให้ทุกโครงการของกองทุนหมู่บ้านฯ ต้องผ่านเวทีประชาคมให้สมาชิกได้ร่วมคิด ร่วมตัดติดใจ โปร่งใส และตรวจสอบได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าโครงการจะเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลไหน "ในอดีต" หากเป็นโครงการที่ดีแล้ว รัฐบาลนี้ ก็จะต่อยอด ขยายผลให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป สำหรับโครงการ – มาตรการ – นโยบายใดที่หลักการดี แต่การดำเนินการยังมาประสบความสำเร็จ ก็จะปรับปรุงและสานต่อเท่าที่สามารถจะทำได้ ส่วนโครงการที่สร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมืองในระยะยาว โครงการที่ถูกทักท้วง ถูกร้องเรียน ก็ต้องนำเข้าสู่กระบวนการของศาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และขจัดขบวนการ "ทุจริต" ให้หมดไป ดังเช่น เงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกองทุนเสมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น การเมืองเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจของพวกเรา เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความสงบ เรียบร้อย สันติ ปลอดภัย อันนั้นก็สำคัญด้วย ไม่ใช้แต่การเมืองสำคัญแต่เพียงอย่างเดียว เป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกันทั้งสิ้น ก็ขอให้ทุกคนหนักแน่น และอดทน และเชื่อมั่น ร่วมมือกับรัฐบาลในการทำงานในทุก ๆ มิติ