นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นต่อความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 เพื่อศึกษาประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP เพื่อเตรียมความพร้อมของไทย
"การรับฟังความเห็นในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีแผนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือในรายละเอียดแต่ละข้อบท รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมเรื่องผลดี ผลเสีย รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายต่อไป"นางอรมน กล่าว
โดยการประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เนื่องจากจะช่วยขยายการค้า ดึงดูดการลงทุนและเสริมสร้างขีดความสามารถของสินค้า และบริการของไทย ให้เข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคในกลุ่มประเทศ CPTPP และระดับโลก โดยปัจจุบันประเทศต่างๆ พยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีหลายประเทศแสดงความสนใจเข้าร่วม CPTPP เช่น เกาหลี สหราชอาณาจักร และโคลอมเบีย เป็นต้น
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐมีความเห็นว่า CPTPP ได้ตัดบทบัญญัติหลายส่วนที่เสนอโดยสหรัฐฯ และเป็นเรื่องที่ไทยมีข้อกังวลออก เช่น การใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-state-dispute-settlement: ISDS) กับสัญญาการลงทุน หรือการอนุญาตการลงทุน การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ทั้งนี้ CPTPP ยังเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง จึงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากบางข้อบทยังไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติของไทย และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งอาจต้องการระยะเวลาในการปรับตัว แต่ยังมีหลายข้อบทที่สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกับแผนการปฏิรูปของไทย
ในส่วนของภาคประชาสังคม ยังมีข้อกังวลเรื่องการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) และการนำข้อบทที่ชะลอการมีผลบังคับไปใช้แล้วกลับเข้ามามีผลกับสมาชิกใหม่ หากสหรัฐฯ เปลี่ยนใจกลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้ง ซึ่งสมาชิก CPTPP เคยชี้แจงไว้ว่า เป็นความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะนำเรื่องที่อ่อนไหวออกจากการมีผลบังคับใช้ หากจะนำกลับเข้ามาจะต้องเป็นฉันทามติของสมาชิกทั้งหมด ในส่วนข้อกังวลของภาคประชาสังคม กรมฯ จะให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อบท CPTPP อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชีลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดย CPTPP จะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบันตามขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่า CPTPP น่าจะมีผลใช้บังคับอย่างเร็วที่สุดในต้นปี 2562