สนั่นลั่นทุ่งเมื่อ"แจ็ค หม่า"ประธานกรรมการบริหาร Alibaba Group ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ e-Commerce จากจีนประกาศการลงทุนกว่าหมื่นล้านในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) และยังลงนามความร่วมมือกับทางการไทยในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดออนไลน์ งานนี้สร้างความปลาบปลื้มแก่รัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก
ไฮไลท์การมาของ"แจ็ค หม่า"อยู่ที่การร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยใน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดตั้งศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการค้ากับจีนและกลุ่ม CLMV, โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย, โครงการอบรมพัฒนาดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) และ โครงการความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัล และยังได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับไทยในระยะยาวด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ของไทย เปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com (เว็บไซต์ค้าปลีก (B2C) ที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้บริษัท Alibaba Group ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท และเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ) เพื่อร่วมมือนำร่องเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้ส่งออกข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยสามารถเข้าถึงตลาด e-Commerce ในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อย่างเป็นรูปธรรม
และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรชนิดอื่นในลำดับต่อไป โดยเฉพาะผลไม้ที่เป็นที่ชื่นชอบของตลาดจีน อาทิ มังคุด มะม่วง มะพร้าว น้อยหน่า เป็นต้น นับได้ว่าเป็นทิศทางที่ดีของตลาดผลไม้ไทยในการเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ของจีน พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกระดับให้เข้าถึงการค้าผ่านช่องทาง e-Commerce
อะไรทำให้ "แจ็ค หม่า"ที่ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในโลกการค้าออนไลน์ในขณะนี้ ตัดสินใจเลือกลงทุนประเทศไทย
"เชื่อมั่นว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในเอเชีย ผู้คนน่ารัก บรรยากาศดี อาหารอร่อย และต้องการมุ่งเน้น ในการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร ตั้งเป้าจะส่งสินค้าไทยไปจีน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรนั้นจะส่งไปให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง จะสร้างมูลค่าทางการค้าได้มาก" แจ็ค หม่า กล่าวถึงประเทศไทย
ประธาน Alibaba Group กล่าวต่อว่า จีนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการขยายตัวของกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่มีมากกว่า 300 ล้านคน ประกอบกับนโยบายเปิดการค้าเสรีของจีน คงไม่มีเวลาที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ที่ประเทศต่างๆ จะใช้โอกาสนี้ในการส่งสินค้าไปยังตลาดจีน
ที่สำคัญคือ ผลิตผลทางการเกษตรของไทย ทั้งข้าวหอมมะลิ ทุเรียนและผลไม้ต่างๆ ล้วนเป็นสินค้าที่ชาวจีนชื่นชอบ อีกทั้งไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องผู้คนและวัฒนธรรมประกอบกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้มั่นใจในอนาคตและศักยภาพการเติบโตของไทย ซึ่งกลุ่ม Alibaba ยืนยันที่จะเป็นพันธมิตรในระยะยาวกับประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกดิจิทัล
ส่วนในอนาคต Alibaba จะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมอีกหรือไม่ต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะเป้าหมายของ "แจ็ค หม่า" คงไม่หยุดอยู่แค่สินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวแน่ โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในโครงการ Smart Digital Hub ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีของ Alibaba ในการประมวลข้อมูลด้านโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกมีความรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เพราะมีคนเปรียบเทียบการเดินทางมาประเทศไทยนั้นเหมือนนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์เมื่อครั้งไปจีนเมื่อหลายสิบปีก่อนว่าน่าจะมีเป้าหมายในการเคลื่อนย้ายการลงทุน เพราะซีพีมีบทบาทมากในการพัฒนาการเกษตรของประเทศจีนตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้าไปลงทุน ก็คล้ายๆ กับที่ "แจ็ค หม่า" ประกาศว่าจะสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยในวันนี้
แล้วดูความยิ่งใหญ่ของธุรกิจเครือซีพีในประเทศจีนวันนี้ ต่างกันก็แค่วันนี้ประเทศไทยไม่ใหญ่เหมือนจีน จำนวนประชากรก็ไม่ได้มากมายมหาศาลเหมือนจีน แล้ว "แจ็ค หม่า" กำลังคิดอะไรอยู่ อะไรคือเป้าหมายที่แท้ทรู?
เพราะประโยคที่ว่า "กลุ่ม Alibaba ยืนยันที่จะเป็นพันธมิตรในระยะยาวกับประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกดิจิทัล" ไม่น่าจะจบอยู่ที่เงินลงทุนแค่ 1.1 หมื่นล้านบาทที่เคลื่อนเข้ามาสู่ประเทศไทย
อย่าลืมว่าเหรียญมีสองด้าน ทุกอย่างมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย การมาของ Alibaba จะมีแต่ข้อดีอย่างนั้นหรือ...
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นต่อผลกระทบของอาลีบาบาต่อเศรษฐกิจว่า จะส่งผลให้เกิดการเติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบก้าวกระโดด การที่แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกขยายการลงทุนมาประเทศไทยก็หวังจะใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ไปสู่การขยายตลาดในภูมิอาเซียน จะทำให้ไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าและบริการในภูมิภาคได้ผ่าน Digital Hub ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการกระจายรายได้ ยังเป็นเรื่องที่ต้องการศึกษาวิจัยต่อไป
ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ด้านหนึ่งการลงทุนของยักษ์ใหญ่ทางด้านค้าปลีกออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซต่างชาติ ย่อมทำให้การเติบโตของธุรกิจนี้ขยายตัวมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและช่องทางในการกระจายสินค้าให้กับผู้ผลิตของไทยสู่ตลาดโลก แต่อีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของไทย
และที่มีผลกระทบหนัก คือธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ทั้งหลาย โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและร้านค้าปลีกรายย่อยและโชว์ห่วยของไทย หากธุรกิจไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไม่สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้ โอกาสและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของการค้าสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ย่อมตกแก่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมเข้ามาลงทุน
ขณะที่สินค้าและบริการของไทยมีช่องทางในการกระจายไปยังตลาดจีนและตลาดโลกมากขึ้น สินค้าและบริการจากทั่วโลกโดยเฉพาะจากจีนจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น หากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยไม่สามารถปรับตัวแข่งขันได้จะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและดุลการค้าด้วย สินค้าราคาถูกจากจีนอาจมีผลทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากทางเลือกมากขึ้น หากโครงสร้างตลาดไม่มีการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด
ส่วนการประกาศลงทุนของอาลีบาบาด้วยเม็ดเงิน 11,000 ล้านบาทใน EEC นั้น คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปตื่นเต้นจนเกินเหตุ เพราะเป็นเงินเพียงแค่ 5% ของกำไร 200,000 ล้านบาทของอาลีบาบาเมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกัน หากหวังว่าอาลีบาบาจะมาช่วยเกษตรกรรายย่อยของไทย ขายข้าว ขายทุเรียน ขายผลไม้ หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยโดยเขาไม่ได้กำไรหรือไม่ได้ผลประโยชน์ที่จูงใจเพียงพอ น่าจะเป็นการเล็งผลเลิศมากเกินไปในเชิงนโยบาย
"สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือทำให้ผู้ผลิตของไทยโดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย มีอำนาจต่อรอง และได้รับแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างตลาดที่ถูกครอบงำจากทุนยักษ์ใหญ่มากขึ้นตามลำดับ โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเฉพาะเศรษฐกิจฐานบน ไม่กระจายมายังเศรษฐกิจฐานรากหรือรากหญ้า ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือการทำมาหากินมีความฝืดเคือง"นายอนุสรณ์ กล่าว
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำคือ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงพื้นที่ดิจิทัล (digital platform) เครื่องมือ (tools) และการเข้าถึงเทคโนโลยี (affordance of technology) อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ความเสี่ยง นวัตกรรม ความล้มเหลว และภาวะอนาคต
นอกจากนี้ ธนาคารและกิจการธุรกิจทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ก็ต้องปรับตัวด้วย เพราะจะได้ผลกระทบ เพราะการลงทุนของอาลีบาบาและยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์จะมาพร้อมกับระบบขนส่งและระบบการจ่ายเงินออนไลน์แบบครบวงจร เช่น Alipay, E-Wallet, E-Finance จะแย่งส่วนแบ่งตลาดของการบริการทางการเงินจากธนาคาร ขณะที่การท่องเที่ยวของชาวจีนอาจเพิ่มขึ้นจากระบบการจองผ่าน Digital Platform ของอาลีบาบา กระทบต่อกิจการท่องเที่ยวที่ทำหน้าที่เป็นเอเยนต์หรือคนกลางของไทย
การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์นี้ ได้ทำให้สิ่งเก่าและวิถีแบบเก่าถูกทำลายลงผ่านการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่และวิถีใหม่ที่เข้ามาแทนที่ "ทุน" ในรูปของบริษัทต่างแข่งขันกันสะสมทุนและขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด เป้าหมายของทุนเหล่านี้ คือการสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง (disruption) ผ่านการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่สามารถทำลายระบบตลาดแบบเก่าและทุนคู่แข่งลงอย่างสิ้นเชิง การสร้างระบบเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบหรือประคับประคองเพื่อให้เกิดการปรับตัวจึงมีความสำคัญในมิติการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และดูแลไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคมหรือการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้
หากทุนขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม นวัตกรรมนั้นจะถูกนำไปใช้สร้างกำไร ทำให้ทุนที่มีนวัตกรรมสามารถเข้ามาเป็นผู้ผูกขาดในตลาดได้ในระยะหนึ่งจนกว่าทุนอื่นจะลอกหรือเลียนแบบนวัตกรรมดังกล่าวได้ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการละทิ้งวิธีการใช้แรงงาน การผลิต การกระจายสินค้าแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนเทคโนโลยี โครงสร้างทางสังคม และการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบเดิมด้วย
"จำเป็นต้องมีมาตรการหรือนโยบายที่ส่งเสริมให้ SME สามารถพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งทุนยักษ์ใหญ่และกำกับปฏิสัมพันธ์ในสังคมให้เหมาะสมผ่านระบบการศึกษา นายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ยังกว้านซื้อธุรกิจใหม่รายย่อยที่ทำท่าว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ทำให้อำนาจผูกขาดของทุนนิยมยุคดิจิทัลกระจุกอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ และมีความจำเป็นในการต้องมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดและบังคับใช้อย่างเสมอภาค" นายอนุสรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลควรไปศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมออนไลน์อย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ เนื่องจากฐานรายได้ภาษีของรัฐบาลจะหายไปจำนวนมาก หากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนจากการทำธุรกรรมซื้อขายในร้านค้าแบบเดิมมาเป็นออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ธุรกรรมออนไลน์ระหว่างประเทศบางส่วน จะสามารถหลบเลี่ยงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีจากธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งทำให้รัฐไทยสูญเสียรายได้ไปจำนวนมากเช่นเดียวกัน
ขณะที่ผู้ประกอบการค่าปลีกออนไลน์รายหนึ่ง มองว่า อาลีบาบาเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ มีงบประมาณด้านการตลาดมาก รวมทั้งรัฐบาลจีนยังให้การอุดหนุนด้านการขนส่งทำให้มีต้นทุนถูกกว่าไทย จึงกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยที่เป็นตลาดการค้าออนไลน์ (อีมาร์เกตเพลส) มีแนวโน้มได้รับผลกระทบประมาณ 10% จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 30-50 ราย และอาจมีถึง 5% ที่ต้องล้มหายตายจากหรือต้องขายกิจการให้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นตลาดภายในประเทศ
ดังนั้น รัฐบาลควรหาแนวทางมาช่วยอุดหนุนลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ประกอบการอีมาร์เกตเพลสของไทย
"สินค้าที่ขายผ่านอาลีบาบาจากจีน มีค่าขนส่งถูกมาก บางครั้งก็ฟรีค่าขนส่ง หรือเก็บในระดับต่ำ ทำให้มีความได้เปรียบเหนือกว่าผู้ประกอบการไทย ดังนั้นรัฐบาลควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในส่วนนี้ เพื่อให้แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างชาติได้"ผู้ประกอบการ ระบุ
เสียงสะท้อนเหล่านี้เหมือนส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลกลายๆ ว่าอย่ามัวหลงใหลได้ปลื้มกับการมาของ Alibaba Group แต่ควรเร่งพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยเป็นการด่วนโดยเฉพาะ SME ขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะล้มหายตายจากไปในที่สุด