นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนากิจกรรมทางวิชาการ PIER : Field Workshop Agriculture ขับเคลื่อนเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วิธีการในการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ซึ่งทำให้เสียงบประมาณการคลังโดยใช่เหตุ และเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด โดยยังเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดในระยะยาวอีกด้วย ทำให้ผลผลิตไม่สอดคล้องกับตลาด ดังนั้นประเทศไทยจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในระยะสั้นจะต้องดูแลภาคการเกษตรจากปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ แต่ประเด็นนี้ยังไม่ใช่นโยบายสำคัญระยะยาวในการดูแลภาคเกษตรของไทย โดยในระยะยาวการเพิ่มผลิตภาพการผลิต การลดต้นทุน ถือเป็นเรื่องสำคัญและช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของไทยอีกด้วย
"หลักการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาของภาคเกษตร จะต้องมองในระยะยาว โดยจะต้องมีการลดต้นทุนภาคเกษตรให้ถูกลง และเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต โดยเฉพาะในอีก 5 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นเร็วมาก ภาคเกษตรจะต้องปรับตัวให้ทันเหมือนทุกภาคส่วน เพราะการอุดหนุนราคาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ไม่มีความสามารถในการกำหนดราคาด้านการเกษตร แม้จะมีปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการลดต้นทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ" นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า ภาคการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าสัดส่วนต่อจีดีพีอาจจะไม่สูงมาก แต่จำนวนประชากรในภาคการเกษตรมีมาก จึงมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคด้วย โดยที่ผ่านมา พบว่า ประชากรในภาคเกษตรของไทยยังประสบปัญหารายได้ต่ำ, ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการบริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคการเกษตรของไทย
"การพัฒนาในภาคเกษตรของไทยยังมีอุปสรรค ซึ่งเป็นผลทำให้รายได้ของภาคการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของโลก การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ไม่ทันสมัย การมีพื้นที่เพาะปลูกที่มากจนเกินไป รวมถึงผลผลิตในภาคเกษตรที่มีมากจนเกินไป ส่งผลกดดันราคาพืชผลทางการเกษตรให้ตกต่ำลงด้วย" นายวิรไท กล่าว