นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการที่สหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกัน ส่งผลให้การค้าของทั้ง 2 ประเทศลดลง และทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปทั้งสหรัฐฯ และจีนได้เพิ่มขึ้นราว 8,500-21,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.06-0.16% ของ GDP ซึ่งทดแทนการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ลดลง
โดยผลในทางบวกนั้น แยกเป็นกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้าจีน จะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น ทดแทนสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง เช่น สินค้าเครื่องจักร, เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกรณีที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐฯ จะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าวสาลี, ข้าวโพด, รถยนต์ และพลาสติก ซึ่งทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ที่ส่งออกไปจีนลดลง
ส่วนผลกระทบในทางลบต่อประเทศไทยจากการเป็นห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีนนั้น อาจจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และจีนลดลง 466-1,165 ล้านบาท หรือราว 0.003-0.009% ของ GDP เนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ประเทศ
"ไทยได้รับผลกระทบในทางลบในส่วนนี้ไม่มากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ พึ่งพาวัตถุดิบจากไทยเพียง 0.1% ของมูลค่าการผลิตรวม ส่วนจีนพึ่งพาวัตถุดิบจากไทยเพียง 0.2% ของมูลค่าการผลิตรวม" นายอัทธ์ระบุ
อย่างไรก็ดี คาดว่าอาจยังมีผลกระทบต่อไทยในแง่ที่สินค้าจากสหรัฐฯ และสินค้าจีนที่ค้าขายกันลดลงนั้น จะถูกส่งมาจำหน่ายในไทย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 6,050-15,120 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 0.04-0.11% ของ GDP โดยสินค้าจากจีนที่อาจจะเข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้น เช่น เครื่องจักร, เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมา คือ อะลูมิเนียม, รถยนต์และชิ้นส่วน และเหล็ก ในขณะที่สินค้าจากสหรัฐฯ ที่อาจจะเข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้น เช่น สินค้าประเภทถั่วเหลือง และพืชน้ำมัน รองลงมาคือ เครื่องบินและชิ้นส่วน, รถยนต์และชิ้นส่วน
"หากประเมินในภาพรวมแล้ว จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะส่งผลให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 8,072-20,180 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.10-0.25% ของมูลค่าการส่งออกของไทย เป็นส่งออกทั้งปีโตได้ 7.1-7.25% โดยไทยจะมี GDP เพิ่มขึ้นราว 2,020-5,050 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.01-0.04% ของ GDP ของไทย" นายอัทธ์ ระบุ
พร้อมกันนี้ ได้มีข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลใน 3 ข้อ คือ 1.ต้องมีการสร้างห่วงโซ่การผลิตของจีนกับสหรัฐฯ ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 2.สร้างความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่น FTA ไทย-สหรัฐฯ ภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศ และ 3. ผลักดันความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ ASEAN+6 ให้เป็นรูปธรรม