นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แถลงความพร้อมการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 หรือ แหล่งเอราวัณและบงกช ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC)
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมการดำเนินการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 พื้นที่ประมาณ 4,501 ตารางกิโลเมตร และ G2/61 พื้นที่ประมาณ 3,247 ตารางกิโลเมตร ภายใต้ระบบ PSC ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดขั้นตอนและเวลาการประมูล 4 ขั้นตอน สรุปได้ ดังนี้
1. การออกประกาศเชิญชวนและพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation) โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมประมูลจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมกำหนด และเนื่องจากพื้นที่ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิ ทั้ง 2 แปลง เป็นแหล่งที่รองรับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่ต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้ขอรับสิทธิในฐานะผู้ดำเนินงานจึงต้องยื่นคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง โดยต้องแสดงข้อมูลการถือครองหุ้นในกิจการ ระหว่างปี 5960 รวมถึงจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินงานการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลตามที่กำหนดในเอกสารแนะนำสำหรับผู้ประมูล
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการประมูลผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (http://www.dmf.go.th/bidding2018) ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.61 เป็นต้นไป จากนั้นสามารถยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 4 พ.ค.61 และยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15-16 พ.ค.61 ซึ่งจะแจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 28 พ.ค.61
2. การเข้าถึงและการศึกษาข้อมูล ผู้เข้าร่วมประมูลที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ตามรายชื่อที่ได้ประกาศ สามารถยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูลในระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.61 จากนั้นสามารถเข้าศึกษาข้อมูลในพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.-21 ก.ย.61
3. การยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องยื่นคำขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมทั้งแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่จัดทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ระบบ PSC ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในวันที่ 25 ก.ย.61
4. การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐของผู้เข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะดำเนินการประกาศผลผู้ที่ชนะการประมูล และได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และจะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลต่อไป
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่าสำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐของผู้เข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ซึ่งการให้น้ำหนักด้านราคาก๊าซธรรมชาติมากถึง 65% และส่วนแบ่งกำไร 25% ดังนั้นผู้ที่สามารถขายก๊าซราคาต่ำสุดจะได้รับคะแนนสูง
สาเหตุที่กรมฯพิจารณาเรื่องราคาก๊าซมากกว่าส่วนแบ่งกำไรเข้ารัฐ เนื่องจากมองว่าการที่ราคาก๊าซลดลง จะช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ ซึ่งคำนวณหากราคาก๊าซลดลง 1 บาทต่อล้านบีทียู จะทำให้ค่าเอฟทีลดลง 0.5 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์กับประชาชน
ขณะที่ ผู้ที่ร่วมประมูล คาดว่าจะมีมากกว่า 2 ราย ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ได้แก่ กลุ่มเชฟรอน, บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และมูบาดาลา ซึ่งกรมฯไม่กังวลว่าผู้ที่ชนะการประมูลจะไม่สามารถผลิตได้ตามแผน เนื่องจากกระบวนการ PQ ค่อนข้างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนดของแหล่งเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผู้ที่ชนะประมูลจะต้องถูกปรับ 10% และหากยังไม่สามารถผลิตได้ภายใน 1 ปี กรมฯ จะขอสงวนสิทธิ์ในการเพิกถอน และยึดหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ 5,000 ล้านบาท และบงกช 3,000 ล้านบาท
ปัจจุบันในปี 60 แหล่งเอราวัณและบงกชส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 5 หมื่นล้านบาท และตลอดอายุสัญญาจ่ายมาแล้ว 4 แสนล้านบาท