น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-มี.ค.61) อยู่ที่ 1,074,964 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 38,063 ล้านบาท หรือ 3.7% เนื่องจากจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 16,673 และ 10,169 ล้านบาท หรือ 18.5% และ 17.5% ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีรถยนต์ ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,059 5,947 และ 4,898 ล้านบาท หรือ 3.5% 283.2% และ 9.4% ตามลำดับ
"การจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังคงสูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้ของผู้ประกอบการยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" น.ส.กุลยา กล่าว
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 769,653 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,420 ล้านบาท หรือ 0.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.3%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 11,201 และ 2,213 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5.5%) และ 1.4% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.8%) ตามลำดับ อย่างไรก็ดีภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,059 ล้านบาท หรือ 3.5% (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.4%) เนื่องจากภาษีจากกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด.50) ภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด.54) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด.53) ขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,947 ล้านบาท หรือ 283.2% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 324.9%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากในช่วงที่ผ่านมามีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมย้อนหลัง และผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น
1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 268,965 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,925 ล้านบาท หรือ 1.1% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.3%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ และภาษีเบียร์ ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,476 และ 4,168 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.1% และ 11.2% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมันและเบียร์ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดีภาษีรถยนต์และภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,898 และ 2,579 ล้านบาท หรือ 9.4% และ 8.0% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดี และภาระภาษีต่อซองของยาสูบหลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ สูงกว่าที่ประมาณการไว้
1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 54,855 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,745 ล้านบาท หรือ 3.1% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.4%) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2,054 ล้านบาท หรือ 3.7% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.6%) เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัว 16.7% และ 8.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าเมื่อหักน้ำมันดิบและทองคำในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัว 14.8% และ 6.4% ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 5 เดือนแรกได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และ (5) พลาสติกและสินค้าจากพลาสติก
1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 68,147 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,169 ล้านบาท หรือ 17.5% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.4%) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (3) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (4) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ (5) การท่าเรือแห่งประเทศไทย
1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 106,822 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,673 ล้านบาท หรือ 18.5% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16.0%) เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 4,641 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 395 ล้านบาท หรือ 9.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.9%) โดยรายได้ด้านที่ราชพัสดุจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากรจำนวน 145,002 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 17,793 ล้านบาท หรือ 10.9% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 112,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 19,051 ล้านบาท หรือ 14.5% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 32,453 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,258 ล้านบาท หรือ 4.0%
1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 8,320 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,220 ล้านบาท หรือ 63.1%
1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 8,164 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 749 ล้านบาท หรือ 8.4%
1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก นวน 5,474 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,117 ล้านบาท หรือ 36.3% เป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 0.75% เป็น 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา
1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1-3 จำนวน 26,518 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 128 ล้านบาท หรือ 0.5%
ส่วนในเดือน มี.ค.61 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 166,254 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,878 ล้านบาท หรือ 1.1% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 0.5%) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 4,729 ล้านบาท หรือ 56.9% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 50.3%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลื่อนการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินของโรงงานยาสูบ และมีภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ และภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,823 และ 1,965 ล้านบาท หรือ 14.4% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 16.4%) และ 25.8% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 44.3%) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการจัดเก็บภาษีรถยนต์ สูงกว่าประมาณการ 5,473 1,647 และ 1,149 ล้านบาท หรือ 23.5% 15.0% และ 11.9% ตามลำดับ