นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังเชิญสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือแผนการดำเนินการและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บุกรุกป่า หลังราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันขยับตัวสูงขึ้นถึง 10.70 บาท/กก. และมีแนวโน้มพุ่งทะยานแตะ 11 บาท/กก. ซึ่งจูงใจให้เกษตรกรกลับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าในฤดูกาลนี้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักดีถึงปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บุกรุกป่า ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศจึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการหามาตรการแก้ปัญหาในประเด็นนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ขณะเดียวกันพบว่าขั้นตอนของการรับซื้อข้าวโพดนับเป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงขอความร่วมมือไปยังโรงงานอาหารสัตว์ทั้งหมดให้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ออกหนังสือถึงสมาคมอาหารสัตว์ไทยให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกสมาคมโดยทั่วกัน
ในช่วงปี 2560 รัฐบาลมีมาตรการในเรื่องของการลดพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยผ่านกลไกอย่างคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด จากมาตรการดังกล่าวพบว่า ตัวเลขพื้นที่บุกรุกป่าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงกว่า 5 แสนไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 3.67 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ในปี 2561 มีแนวโน้มที่เกษตรกรจะกลับมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม เพราะช่วงที่ผ่านมาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูง จูงใจให้กระบวนการปล่อยเกี๊ยวแก่เกษตรกรมีเพิ่มมากขึ้น จึงจะขอความร่วมมือสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยควบคุมการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกถูกต้อง และ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกที่ถูกต้องเท่านั้น
นอกจากนี้จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561 โดยมีเป้าหมายหลักคือ 1.) เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต 2.) นำ GAP หรือ Good Agriculture Practice มาใช้ เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกอย่างถูกต้อง 3.) ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำในหน้าแล้ง 4.) การเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกที่ถูกต้อง อาทิ โครงการข้าวโพดหลังนา เพื่อลดปัญหาปริมาณข้าวโพดขาดแคลน และ 5.) ลดพื้นที่ปลูกที่ไม่ถูกต้องจนเหลือศูนย์ เพื่อรักษาพื้นที่ป่าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ 6.) พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคปลายทางในต่างประเทศได้ เป็นการป้องกันปัญหาการกีดกันสินค้าเกษตรของไทยได้อีกทางหนึ่ง
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ยินดีที่จะสนับสนุนไม่ให้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่รุกป่า และเป็นนโยบายมานานมากแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอต่อการใช้ผลิตอาหารสัตว์ การนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอย่างข้าวสาลีก็ถูกจำกัด หากหยุดรับซื้อในทันทีจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร แต่ยืนยันว่าจะต้องหยุดรับซื้อข้าวโพดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้ได้ภายใน 2 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหลังนา เพื่อมาทดแทนข้าวโพดในพื้นที่รุกป่าที่จะต้องลดลง ว่าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมมือกัน
"การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับผลกระทบจากการเพาะปลูกในพื้นที่รุกป่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นจากผู้บริโภคในต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขที่กลุ่มอาหารสัตว์สร้างขึ้นมาเอง" นายพรศิลป์ กล่าว และระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน ทำให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศราคาสูงเกินจริง กระทบต่อต้นทุนเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก จึงได้มีเสนอกระทรวงพาณิชย์ทบทวนอัตราส่วนดังกล่าวแล้ว ส่วนความร่วมมือในการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดขั้นต่ำในราคา 8 บาท/กก.นั้นจะต้องเป็นข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น