นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.คงเป้าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.2% จากช่วงคาดการณ์ 3.9-4.5% ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากปี 60 ที่ขยายตัว 3.9% เนื่องจากมีการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
สศค.ได้ปรับประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้เป็นเติบโต 8% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตราว 6.6% แต่ไม่ได้ปรับเพิ่มประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคภาครัฐในไตรมาส 1/61 ยังคงชะลอตัว เนื่องจากการเบิกจ่ายไม่เป็นตามเป้า รวมทั้งรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ปรับลดงบลงทุน เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับลด 5 พันล้านบาท การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ปรับลด 3 พันล้าบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปรับลด 1.1 พันล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงทุนและการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวขึ้นในไตรมาส 2/61 เนื่องจากส่วนราชการก่อหนี้ผูกพันไปแล้วราว 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 29.1% ของงบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 61
นอกจากนี้ สศค.มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามในระยะต่อไปเนื่องจากมีผลต่อการฟื้นตัวในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านการค้า จากปัญหาการตั้งกำแพงภาษีการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่เบื้องต้น สศค.มองประเด็นนี้ในเชิงบวกว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลายมากขึ้น โดยสหรัฐมีท่าทีอ่อนลงหลังจากจีนไม่มีมาตรการตอบโต้
ขณะที่ปัญหาการเมืองในภูมิภาคมีแนวโน้มคลี่คคลายไปในทางที่ดีขึ้นทั้งสถานกาณ์ในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งขณะนี้ลดอุณหภูมิความร้อนแรงลง แต่ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงิน เพราะอาจมีความผันผวน จึงขอให้ผู้ประกอบการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ของ สศค.ระบุว่า การส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวอย่างชัดเจน โดยคาดว่าปริมาณส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ 5.5% ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตามกรอบรายจ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ พ.ร.บ.จัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 8.9% เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 3.0%
นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่สำคัญ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจและกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.8%
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 2 ยังคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวที่ 3.5%
ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.8% สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.2% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และ non-OPEC ที่ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นน้อย
เสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 46.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 9.1% ของ GDP เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 25.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ 8.0% ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 12.5%