นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มี.ค.61 และไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัวอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
โดยภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค.61 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 22.2% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 9.9% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 31.5% และ 0.2% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 32.0% และ 4.2% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 4.7% และ 12.1% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 1.2% และ 24.1% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในไตรมาสที่ 1/2561 อยู่ที่ 6,200 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 115.9% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน ก.พ.61 ขยายตัว 10.5% และ 13.4% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการเพิ่มขึ้นของข้าวเปลือก ข้าวโพด และปศุสัตว์ เป็นต้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.61 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มี.ค.61 ขยายตัว 23.4% และ 3.1% ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 23.2% และ 1.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 12.9% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือน มี.ค.61 อยู่ที่ 6,411 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 65.6% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัวที่ 59.0% ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือน ก.พ.61 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 11.5% และ 23.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดผลไม้ และยางพารา เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.61 (เบื้องต้น) ปรับตัวลดลงมาที่ -1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน มี.ค.61 ขยายตัว 8.8% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นต้น ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 9.9% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 21.1% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 26.1% ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 6.4% และ 34.6% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และระนอง สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือน ก.พ.61 ขยายตัว 9.0% และ 20.1% ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต พังงา และตรัง เป็นสำคัญ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.61 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 0.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 1.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือน มี.ค.61 ขยายตัว 23.3% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 22.9% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น และมุกดาหาร เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 8.4% ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดเศรษฐกิจหลัก อาทิ ขอนแก่น มุกดาหาร และอุบลราชธานี เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการอยู่ที่ 1,789 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 36.2% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือน ก.พ.61 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.8% และ 11.8% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการขยายตัวในผลผลิตอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.61 (เบื้องต้น) ปรับตัวลดลงมาที่ -0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค.61 ขยายตัวที่ 1.7% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 3.4% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดเชียงใหม่ และตาก เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 20.9% ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และนครสวรรค์ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 8.6% และ 145.4% ต่อปี ตามลำดับ ตามการลงทุนในจังหวัดเพชรบูรณ์และอุตรดิตถ์ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือน ก.พ.61 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 5.3% และ 9.2% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.61 (เบื้องต้น) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค.61 ขยายตัวที่ 4.4% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 7.1% ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 18.4% ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 16.1% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในไตรมาสที่ 1/2561 อยู่ที่ 1,796 ล้านบาท ขยายตัว 28.2% ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือน ก.พ.61 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.4% และ 13.0% ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.61 (เบื้องต้น) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1/2561 ขยายตัว 3.6% ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี และปทุมธานี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 14.8% ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และนนทบุรี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 5.9% ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในไตรมาสที่ 1/2561 อยู่ที่ 6,645 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรปราการ เป็นสำคัญ
สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือน ก.พ.61 ขยายตัว 16.8% และ 32.1% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวได้ดีทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.61 (เบื้องต้น) ลดลงมาอยู่ที่ 1.3% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค