ส.ผู้ผลิตไก่ฯ มั่นใจกลางปีนี้ราคาเนื้อไก่ส่งออกกลับมาดีขึ้นหลังอียู-ญี่ปุ่นสั่งซื้อเพิ่ม, คาดมูลค่าส่งออกแตะแสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 30, 2018 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวย้ำว่า ในช่วงกลางปี 2561 นี้ ราคาเนื้อไก่ส่งออกน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น โดยตลาดอียูได้แรงผลักดันจากการเร่งส่งออกเนื้อไก่เพื่อให้ครบตามโควตา จากปีที่ผ่านมาส่งได้ไม่ครบ ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นต้องสั่งซื้อเนื้อไก่มากขึ้น หลังจากที่ได้เคลียร์สต็อกไก่ในประเทศเมื่อช่วงต้นปี นอกจากนี้ยังมีการส่งออกในตลาดรองลงมาอีกอย่างเช่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

"ถือว่าเป็นโอกาสของไทยในการต่อรองราคากับทั้ง 2 ตลาด ทำให้สามารถปรับขึ้นได้ เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ต้องลดราคาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่นที่ความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวจำนวนมาก โดยตลาดญี่ปุ่นการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นปีละ 12-13% ด้านตลาดอียูที่กำหนดโควตาส่งออกปีละ 2.7 แสนตัน ซึ่งจะจบอีก 2 เดือนข้างหน้า ในเดือนมิถุนายน ทำให้ผู้ประกอบการเร่งส่งออกตามออเดอร์ให้เสร็จสิ้นไม่เกินเดือนพฤษาคม เพราะต้องเผื่อการเดินทางให้สินค้าไปถึงอียูก่อนสิ้นสุดโควตา" นายคึกฤทธิ์ กล่าว

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมไก่เนื้อ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยจะมีผลผลิตไก่เนื้อประมาณ 1.5 พันล้านตัว เพิ่มขึ้น 2.13 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการบริโภคปีนี้คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.52% จากปัจจัยด้านราคาที่ถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น โดยในจำนวนนี้เป็นการบริโภคในประเทศราว 65.46% และสำหรับส่งออกอีก 34.51% โดยปีนี้คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยได้ประมาณ 8.2 แสนตัน คิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นราว 2.5% จากปีที่ผ่านมา ที่มีการส่งออกรวม 8 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.05 แสนล้านบาท

ความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดจากการร่วมมือที่ดีของภาครัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรในอุตสาหกรรมไก่เนื้อที่มุ่งมั่นพัฒนาการผลิตให้มีมาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ภายใต้กระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ดี ตลอดจนความสามารถในการควบคุมคุณภาพ มีการผลิตที่ต่อเนื่องทำให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับตลาด เพื่อให้ไทยยังคงเป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกเนื้อไก่ในระดับโลกเช่นนี้ต่อไป

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า แวดวงไก่เนื้อมีข่าวดีอีกระลอก หลังจากการเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน เพื่อร่วมหารือกับหน่วยงานสุขอนามัยการนำเข้าไก่เนื้อของญี่ปุ่น (MAFF) พบว่าขณะนี้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปของไทยขึ้นแท่นผู้นำในตลาด มีส่วนแบ่งในตลาดไก่แปรรูปในญี่ปุ่นเป็นอันดันดับ 1 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวญี่ปุ่นที่พึงพอใจในผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน โดยเฉพาะความพอใจในรสชาติของไก่ปรุงสุก

ส่วนไก่ดิบที่ญี่ปุ่นเปิดตลาดนำเข้าจากไทยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมญี่ปุ่นนำเข้าจากบราซิลเป็นหลัก และยังมีสัญญาผูกพันกันไว้ต่อเนื่องนาน 1-2 ปี แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นได้หันมาออเดอร์ไก่ดิบจากไทยเพิ่มขึ้น และไทยก็ถือว่าได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา และบราซิล เนื่องจากระยะทางขนส่งไปยังญี่ปุ่นที่ใกล้กว่า ทำให้มีโอกาสเติบโตในตลาดนี้ได้อีกมาก

"ความนิยมของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มีต่อผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุกและไก่สดของไทย ที่สงผลให้ออร์เดอร์สินค้าจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง การที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์ของไทยนี้ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะสามารถส่งออกไก่ไปยังตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะยิ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการและภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการควบคุมและพัฒนาคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาตลาดนี้เอาไว้" โฆษกกรมปศุสัตว์กล่าว

สำหรับตลาดอียู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ของไทย ที่แม้ว่าปริมาณการส่งออกจะถูกล็อกด้วยโควตาจึงไม่สามารถขยายตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอียูที่มีอยู่มากก็ตาม แต่ไก่เนื้อของไทยจะยังคงแข่งขันกับคู่แข่งด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อผลักดันให้สินค้าสามารถขายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้น และเป็นที่ทราบดีว่าอียูให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าและความปลอดภัยในอาหารเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันอียูได้สั่งห้ามโรงงานไก่บางแห่งของบราซิลส่งไก่เข้ามาเนื่องจากปัญหามาตรฐานสินค้า หากแต่ผลิตภัณฑ์ของไทยยังคงสามารถตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องนี้ของอียูได้

อุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยตีปีกตั้งแต่ต้นปี นับจากความสำเร็จในการส่งออกเนื้อไก่ไปยังจีนได้เป็นครั้งแรก จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลไทย-จีน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ที่แสดงให้จีนเห็นว่าการผลิตไก่เนื้อของไทยตลอดนั้นมีมาตรฐานตลอดกระบวนการ ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยง จนถึงโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ กระทั่งมั่นใจว่าเนื้อไก่ของไทยมีมาตรฐานในระดับสากล ปลอดสาร ปลอดภัยด้านอาหาร (Food safety) และอ้าแขนรับไก่เนื้อจากไทยไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยปัจจุบันสามารถส่งออกได้ 7 โรงงาน คาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี และหากสำนักงานการขึ้นทะเบียนหรือรับรองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือ CNCA รับรองโรงงานอีก 12 แห่ง จนครบทั้ง 19 แห่งที่ได้เข้ามาตรวจสอบก่อนหน้านี้ จะช่วยนำรายได้เข้าประเทศประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ