นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ทางชมรมได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน อีกครั้ง กรณีขอให้เปลี่ยนสัญญาซื้อไฟฟ้าสำหรับ SPP ชีวมวล ที่เป็น Firm เป็นแบบ FiT หลังจากที่ข้อเรียกร้องของชมรมยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยหนังสือดังกล่าวต้องการให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อรมว.พลังงาน หลังมีข่าวเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาที่กระทรวงพลังงานอาจจะใช้วิธีการช่วยซื้อไฟฟ้าในปริมาณเพิ่มขึ้นแทนการปรับราคาตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก่อนหน้านี้
ข้อเท็จจริงของปัญหาคือเรื่องการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่เหลื่อมล้ำและการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการ SPP ชีวมวลที่ 2.65 บาทต่อหน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ชีวมวล รับซื้อไฟฟ้าเป็น FiT ที่ได้ราคาสูงถึง 4.54 บาทต่อหน่วย มิใช่ปัญหาเรื่องปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า ดังนั้น การจะช่วยด้วยการซื้อไฟฟ้าในปริมาณเพิ่มขึ้นนั้น จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ SPP ชีวมวล ที่มีสัญญาขายไฟแบบ Firm เป็นเท่าทวีคูณ เพราะต้องหาซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะแข่งขันกับ VSPP ได้ เนื่องจากนโยบายรัฐที่กำหนดราคารับซื้อไฟต่างกันมากถึงเกือบ 2 บาทต่อหน่วย และมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะโดนค่าปรับตามสัญญาแบบ Firm ในขณะที่ VSPP กลับได้เปรียบจากค่าไฟที่ได้รับสูงกว่า และมีสัญญาขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm จึงไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าปรับแต่อย่างใด
SPP ชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นแรกที่บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าด้วยการซื้อเชื้อเพลิงจากของเหลือทางการเกษตร ไม่มีเชื้อเพลิงเป็นของตัวเอง ไม่เคยได้รับทั้งเงินสนับสนุน Adder และ FiT จึงไม่เคยเป็นภาระค่าไฟของประเทศและประชาชน แม้แต่ข้อเรียกร้องที่ชมรมขอให้ช่วยเหลือเพื่อความเป็นธรรมนี้ ทางชมรมก็ยอมรับตามมติกบง.ที่ได้พิจารณาปรับราคารับซื้อให้เป็นแบบสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งยังต่ำกว่าราคาที่ VSPP ชีวมวลได้รับ รวมทั้งต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐานของประเทศ ประกอบกับปริมาณขายไฟฟ้าของกลุ่ม SPP ชีวมวลมีเพียง 2% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและของประเทศโดยรวมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตามมติ กบง. เมื่อ 5 กันยายน 2560 และมติคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อ 28 มีนาคม 2561 (กกพ.ได้รับมอบหมายตามมติ กบง. เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561) เห็นชอบให้ SPP ชีวมวลที่มีขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ (MW) ขึ้นไป (ปริมาณขาย 3,662 ล้านหน่วยต่อปี) ได้สิทธิในราคา FiT ที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้แข่งขันซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลกับ VSPP ได้ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวม SPP ชีวมวลที่มีขนาดเท่ากับ VSPP คือไม่เกิน 10 MW (ปริมาณขาย 457 ล้านหน่วยต่อปี) ได้สิทธิในราคา FiT เพื่อแข่งขันได้ที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ก็ยังทำให้ราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ชีวมวลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐาน 3.76 บาทต่อหน่วย
ชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล เรียกร้องเพื่อขอโอกาสและขอได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 เมษายน 2561 เรื่องการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ในบริบทตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการได้รับ "โอกาสและการปฏิบัติเท่าเทียม" โดยขอให้นำมาตรการแก้ไขปัญหา SPP ชีวมวลที่ผ่านความเห็นชอบจาก กบง. และ กกพ. (ตามที่ได้รับมอบหมายจาก กบง.) ไปแล้ว เสนอต่อ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว เพราะถ้าเรื่องเงียบหายไปนานอีกดังเช่นที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายคงอยู่ไม่รอด เพราะต้องทนแบกภาระขาดทุนมาติดต่อกันหลายปีแล้ว และอยู่ในช่วงที่ต้องคืนหนี้สินแก่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติหลายรายที่เข้ามาลงทุน SPP ชีวมวลในประเทศไทยตามนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนตั้งแต่ต้น ก็จะได้กลับมามีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยและต่อนโยบายการพัฒนาประเทศของภาครัฐ