นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ประจำเดือนมีนาคม ปี 2561 อยู่ที่ 128.80 ขยายตัว 2.62% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 เป็นผลมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็มีทิศทางที่ดีเช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้ไตรมาสที่ 1/61 MPI ขยายตัว 3.93% (ไตรมาส 1/60 ขยายตัว 0.11%)
อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 76.06% สูงสุดในรอบ 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2556
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนมีนาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม เม็ดพลาสติกและน้ำมันพืช
สำหรับรถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเครื่องยนต์ และรถปิคอัพเป็นหลัก ตามการเติบโตของกำลังซื้อภายในประเทศที่ดีขึ้น และการกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์ รุ่นใหม่ๆ และการส่งออกไป ออสเตรเลีย อาเซียน (ยกเว้นเวียดนาม) ยังเติบโตได้ดี
น้ำตาลทราย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ทำให้วัตถุดิบคืออ้อยเข้าสู่โรงงานจำนวนมาก
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง
เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.67% จาก พอลิโพไพลีน เรซิน (PP) พีวีซี เรซิน (PVC) และ โพลีเอทิลีน (PE ) เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตบางรายมีการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักร สำหรับ LLDPE (พลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ) เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตบางรายการมีการขยายกำลังการผลิตในเดือนนี้
น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้น 34.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบ เป็นหลัก เนื่องจากช่วงต้นปี 2560 พื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดทางภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ ประกอบกับปีนี้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่งผลให้มีผลผลิตปาล์มเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ภาวะอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.33% เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Semiconductor, Monolithic IC, PCBA และ HDD ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดย IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage
อุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.2% การบริโภคในประเทศขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกสินค้าอาหารขยายตัวจากการฟื้นตัวที่เข้มแข็งและต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน รวมถึง กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต