สนข.คาดปรับปรุงแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางฯ ระยะที่ 2 แล้วเสร็จส.ค.นี้ ก่อนเสนอคจร.-ครม. คาดเริ่มก่อสร้างปี 64

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 30, 2018 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) ได้ร่วมกันจัดสัมมนา The Blueprint for the 2 nd Bangkok Mass Repid Transit Master Plan (M-MAP 2) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) โดยจะปรับปรุงแผนแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ และนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

หลังจากนั้นจะเป็นการสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและกำหนดแนวเส้นทางให้เหมาะสมและรองรับความต้องการอย่างแท้จริงในปี 2562 ซึ่งโครงการใน M-MAP 2 นั้นเป็นโครงข่ายที่เสริมจากโครงการรถไฟฟ้า 10 ที่เป็นโครงข่ายหลักใน M-MAP 1 ซึ่งจะพยายามให้ได้ข้อสรุปภายในรัฐบาลชุดนี้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการในปี 2563 และในปี 2564 จะเริ่มต้นโครงการที่มีความพร้อมได้

โดยแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของโครงข่ายหลักตามแผนฯ ระยะที่ 1 ซึ่งในอีก 2-3 ปี รถไฟฟ้า 10 สายในแผนระยะที่ 1 จะก่อสร้างได้ครบทั้งหมด ส่วนแผนระยะ 2 นั้นจะเป็นโครงข่ายย่อย เช่น สายสีทอง สายสีเทา ส่วนสายสีน้ำตาล ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา

สำหรับทิศทางนโยบายและมาตรการสำคัญในการพัฒนาแผนแม่บท M-MAP 2 ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ

1.เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับการคมนาคมขนส่งของระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันให้สูงขึ้น เช่น การเพิ่ม ขบวนรถไฟฟ้า และความถี่ในการให้บริการ เป็นต้น, ขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการตามแผนM-MAP 1 เพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่ยังไม่มีโครงข่าย, ส่งเสริมให้มีรูปแบบการขนส่งสาธารณะต่อเนื่องหลายรูปแบบ

2.เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ที่มีความต้องการการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง, พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง, ส่งเสริมให้มีการใช้โครงข่ายรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน โดยให้มีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน, ส่งเสริมให้มีสถานีขนส่งสำหรับเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างศูนย์กลางเมืองและเมืองรอง รวมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีโดยรอบ

3.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี เช่น การพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทาง (Inter-modal facilities) เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ บูรณาการการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี

4.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางได้อย่างสะดวก, นโยบายด้านอัตราค่าโดยสารที่ดึงดูดผู้ใช้บริการและเงินสวัสดิการสนับสนุนค่าใช่จ่ายการเดินทางด้วย ระบบขนส่งสาธารณะจากนายจ้างประจำ,นโยบายด้านความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวก, ความรวดเร็วในการเดินทางและการแก้ไขปัญหา, จัดให้มีขบวนรถไฟชั้นธุรกิจ

5.เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways) โดยการจัดเตรียมแนวเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินทางเข้าสู่สนามบิน, ลดระยะเวลาในการเดินทางไปสนามบิน เช่น จัดให้มีรถไฟขบวนด่วนพิเศษ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ