คลัง เผย IMF ชี้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปี 61-62 ยังขยายตัวได้ดี แต่ห่วงหนี้สาธารณะ-หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 30, 2018 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลกครั้งที่ 97 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2561 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยมีสาระสำคัญของการประชุมดังนี้

1) การประชุมร่วมของผู้ว่าการประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Joint Governors’ Meeting of the World Bank and International Monetary Fund South East Asia Voting Group: Joint Governors’ Meeting of SEA Group) ซึ่งนาย Andin Hadiyanto กรรมการบริหารของกลุ่มออกเสียง SEA Group ในธนาคารโลกได้รายงานให้คณะผู้แทนไทยทราบถึงผลการดำเนินการของกลุ่มออกเสียง SEA Group ในปีที่ผ่านมา พร้อมกับความคืบหน้าของแผนการเพิ่มสถานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารโลกเพื่อให้มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกในทุกระดับได้

นอกจากนี้ นาย Juda Agung กรรมการบริหารของกลุ่มออกเสียง SEA Group ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้รายงานถึงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกว่ายังคงเติบโตได้ดีในระยะสั้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจหลักของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง การเติบโตจะถูกจำกัดโดยสังคมสูงอายุ (Aging Population) ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของผลิตภาพการผลิต (Low Productivity) และปริมาณหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนของประเทศสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Rapid Monetary Policy Normalization in Advanced Economy) การดำเนินนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐอเมริกา (Trade Protectionism Policy) และความไม่มั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical Tension) ทั้งนี้ IMF ได้แนะนำประเทศสมาชิกให้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพราะภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ควบคู่กับการดำเนินนโยบายกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macro Prudential Measures) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ และใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน

2) คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการหารือโต๊ะกลมในหัวข้อ Maximizing the Development Impact of the Belt and Road Initiative พร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารของธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks: MDBs) โดยที่ประชุมเห็นพ้องกับการสนับสนุนโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งริเริ่มโดยประเทศจีน เพราะเป็นโครงการที่สำคัญในการผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเชื่อมโยงของประเทศสมาชิกผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเล การขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงทางการเงิน และการเชื่อมโยงของคนผ่านการท่องเที่ยวและการจ้างงาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เรียกร้องให้ธนาคารระหว่างประเทศเพิ่มบทบาทในการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและลดภาระงบประมาณภาครัฐ ช่วยตรวจสอบระบบจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

3) คณะผู้แทนไทยได้รับฟังการนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากนาย Chang Yong Rhee ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ IMF ซึ่งสรุปภาพรวมของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในปี 2561 และ 2562 ว่ายังขยายตัวได้ดีนำโดยประเทศจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม การเติบโตยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว(Monetary Policy Normalization) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน (Trade War) ผลกระทบจากการปฏิรูปภาษีของสหรัฐอเมริกา (US TAX Reform) และ ความไม่มั่นคงในคาบมหาสมุทรเกาหลี (Geopolitical Uncertainties over North Korea Peninsular) ซึ่งในระยะสั้น IMF มองว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อประเทศใน ASEAN อยู่ในกรอบที่จำกัด และได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกใช้โอกาสนี้ ในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (Structural Reform) ประกอบกับใช้ความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้และคงเหลือไว้ซึ่งความสามารถทางการคลัง (Fiscal Space)

4) นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยได้ร่วมหารือทวิภาคีกับนาง Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกดูแลภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของธนาคารโลกกับประเทศไทยในอนาคต และเข้าร่วมการสัมมนา Fiscal Forum ในหัวข้อ Corruption and Public Sector Governance เพื่อรับฟังถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขการคอร์รัปชั่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ