น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.61 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 101.57 ขยายตัว 1.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบเดือน มี.ค.61 ขยายตัว 0.45%
ส่วน Core CPI อยู่ที่ 101.78 ขยายตัว 0.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.03 % จากเดือน มี.ค..61
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนเม.ย. 61 ที่ปรับตัวสูงถึง 1.07%เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน
ขณะที่ CPI ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.61 ขยายตัวเฉลี่ย 0.75% และ Core CPI ขยายตัว 0.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย.61 เพิ่มขึ้น 1.07% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.61) เพิ่มขึ้น 0.75% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบคาดการณ์ปีนี้ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7-1.7% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน, การลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรบางตัว และกำลังการบริโภคเฉลี่ยของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ต้นทุนราคาสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวมยังชะลอตัว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการใช้จ่าย การลงทุน และต้นทุนการผลิต ซึ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยด้านความต้องการใช้จ่ายและการลงทุนมากกว่าผลด้านต้นทุนและการผลิต"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
ในเดือน เม.ย. 61 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮออล์ อยู่ที่ 101.71 เพิ่มขึ้น 0.68%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.78% จากเดือนมี.ค. 61 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.51 เพิ่มขึ้น 1.31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.26% จากเดือนมี.ค. 61
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือนเม.ย.61 จากรายการสินค้าทั้ง 422 รายการที่นำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป พบว่า สินค้า 239 รายการมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า, ขนมปังปอนด์, ผักสด, ผลไม้สด, กุ้งขาว, ก๊าซหุงต้ม, ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 112 รายการ เช่น เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่, ข้าวสารเหนียว, น้ำยาล้างห้องน้ำ, สบู่ และน้ำปลา เป็นต้น ในขณะที่มีสินค้าอีก 71 รายการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่เข้าสู่กรอบคาดการณ์ในเดือนนี้ แม้ส่วนหนึ่งจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญบางชนิด แต่เครื่องชี้วัดต่างๆ โดยรวมยังสะท้อนว่าการบริโภคและการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับการจ้างงาน การจัดเก็บรายได้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภค
"จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.61 ไม่พบว่าส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.ให้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้เป็นผลจากราคาพลังงาน และผักสด ในขณะที่ราคาอาหารนอกบ้าน เพิ่มขึ้นจากมี.ค.เพียง 0.05% เท่านั้น ดังนั้นจึงมองไม่เห็นผลกระทบในการปรับขึ้นราคาสินค้าจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนเริ่มคาดการณ์สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ประกอบกับโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเริ่มดำเนินการได้เป็นรูปธรรม ส่งผลให้ความต้องการและราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้จะอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 1-4% และคาดว่าทั้งปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.7-1.7% ได้
"ช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่าการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ส่วนหนึ่งภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยคาดว่าทั้งปีนี้ เงินเฟ้อมีสิทธิแตะที่ 1% ได้" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า จากมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีผู้มีสิทธิราว 11.4 ล้านคนจากทั่วประเทศ พบว่าสามารถช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในกลุ่มดังกล่าวลงได้ 7.2% ซึ่งหากรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือด้านราคาสินค้าเกษตรอีกส่วนหนึ่ง ก็จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอย และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้