สคร.ร่วมธนาคารรัฐ-การไฟฟ้า-การประปา บูรณาการข้อมูลด้านการเงิน-สาธารณูปการ ยกระดับบริการสู่การเป็น Big Data

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 2, 2018 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลด้านการเงิน-สาธารณูปการว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขับเคลื่อนนโยบายด้านบูรณาการข้อมูลรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรม โดยมีการนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ และมีการนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์เพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย อีกทั้งมีเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยยึดถือประโยชน์ประชาชนได้รับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และรัฐวิสาหกิจกลุ่มสาธารณูปการ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า การบูรณาการข้อมูลด้านการเงิน-สาธารณูปการนี้จะทำให้สถาบันการเงินของรัฐสามารถพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นจากข้อมูลที่ได้จากสาธารณูปการ และขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า-ประปาก็จะสามารถพัฒนาบริการประชาชนให้ได้ดียิ่งขึ้นจากข้อมูลของผลประกอบการของ SMEs

นอกจากนี้ สคร.ได้ร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด วางแผนการดำเนินโครงการ SMEs Financial Intelligence เพื่อนำข้อมูลจากการบูรณาการมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบนโยบายที่สามารถตอบโจทย์การช่วยเหลือ SMEs ให้ตรงจุด เช่น การกำหนดอุตสาหกรรม SMEs เป้าหมายที่ต้องสนับสนุนได้อย่างชัดเจน และสามารถนำฐานข้อมูล Big Data มาต่อยอดเป็นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมให้กับ SMEs โดยให้บริการผ่านทาง Digital Platform ซึ่งจะทำให้ (1) ประชาชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ขอสินเชื่อ ผ่อนชำระ หรือปรับโครงสร้างหนี้ (Refinance) ได้ผ่านทางมือถือ (2) สร้างเครือข่าย SMEs ให้ต่อยอดธุรกิจ (3) มีระบบ E-Commerce ในการซื้อ-ขายสินค้า SMEs ได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น (4) ภาครัฐสามารถจัดหลักสูตรอบรมที่สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของ SMEs นอกจากนั้นข้อมูลที่ได้จาก Digital Platform นี้จะยังนำไปพัฒนาบริการทางการเงินให้ SMEs โดยไม่ต้องพึ่งพิงหลักประกันเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้ข้อมูลอื่นๆ เช่น พฤติกรรมของ SMEs มาเป็นข้อมูลในการให้สินเชื่อ (Information-based lending)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ