ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย. 61 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 80.9 จาก 79.9 ในเดือน มี.ค.61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.8 จาก 66.8 ในเดือน มี.ค.61
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.8 จาก 74.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.1 จาก 98.0
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเม.ย. ปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 40 เดือนตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ปี 61 ไว้ที่โต 4.2%, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/61 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/60 โดยคาดโตใกล้เคียงประมาณ 4%, การส่งออกในเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 7.06%, พืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย
ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ความกังวลเสถียรภาพทางการเมือง โดยห่วงการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากก.พ. 62, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเรื่องค่าเงินบาทและปัญหาสงครามการค้า และผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเม.ย.61 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่ ม.ค.58 เป็นต้นมา ทั้งนี้ยังต้องติดตามต่อไปว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ในอนาคต เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ดี มองว่าการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับตั้งแต่เดือนมี.ค.นั้น เป็นเพราะผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มคลายตัว ทั้งจากกรณีเงินบาทที่ไม่แข็งค่าลงไปแตะระดับ 30 บาท/ดอลลาร์, ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของสหรัฐกับจีน, รัสเซียกับสหรัฐ และเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้
นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.61 ช่วยทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก จากเดิมที่มีเพียงการช่วยเหลือในเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ในบางรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง จึงทำให้เริ่มมีเม็ดเงินกลับเข้ามาในภาคเกษตร ขณะที่ด้านการส่งออกยังคงเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ โดยผู้ประกอบการ SME เริ่มรับรู้คำสั่งซื้อและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก Supply Chain ส่วนภาคการท่องเที่ยวและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม มัคคุเทศก์ โลจิสติกส์นั้น จะเห็นเม็ดเงินที่เริ่มกระจายตัวลงไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ มากขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากผู้บริโภคกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเด่นชัดขึ้นได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 และเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้ที่ระดับ 4.2-4.4%
"เราคาดว่าไตรมาส 1 GDP จะโตได้ 4.0-4.2% หรือเฉลี่ยที่ 4.1% ขณะที่ไตรมาส 2 สถานการณ์จะดีขึ้นจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ช่วงครึ่งปีแรก GDP เติบโตได้ราว 4.1-4.2% จะเห็นว่าความเชื่อมั่นในอนาคตของประชาชนเริ่มดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นสะท้อนจากดัชนีการซื้อที่อยู่อาศัย, รถยนต์ และการท่องเที่ยว ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่า GDP จะโตได้ราว 4.4-4.6% โดยเศรษฐกิจมหภาคจะค่อยๆ ฟื้นตัว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในช่วงไตรมาส 4" นายธนวรรธน์ ระบุ