นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 8 พ.ค.นี้เพื่อขออนุมัติสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละ 1,500 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมวงเงิน 4,500 ล้านบาท สนับสนุนการรวบรวมผลไม้ให้สถาบันเกษตรกรได้กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลไม้ในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวและระบายออกนอกแหล่งผลิต
ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสหกรณ์จัดสรรเงินกู้ ดอกเบี้ย 1% จำนวน 230 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ของสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีนโยบายในการสนับสนุนให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจผลไม้ตามกลไกตลาดปกติ แต่จะเน้นให้สหกรณ์สนับสนุนสมาชิกผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน GAP เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าของสหกรณ์ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค
ปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินธุรกิจผลไม้ทั่วประเทศมีจำนวน 92 แห่ง ใน 19 จังหวัด และตั้งเป้ารวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรกว่า 40,000 ตัน ซึ่งคาดว่าปริมาณผลผลิตในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นผลไม้จากภาคตะวันออก ทั้งมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง และมะม่วงน้ำดอกไม้ ปริมาณ 19,000 ตัน ผลไม้จากภาคเหนือ ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไยสดและแปรรูป สตอเบอรี่และสับปะรด 14,000 ตัน ผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ มังคุด เงาะ ลองกองและทุเรียน จำนวน 5,000 ตัน และผลไม้ภาคกลางได้แก่ กล้วยหอมทองของสหกรณ์ในจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 2,000 ตัน ซึ่งตลาดรองรับผลไม้ของสหกรณ์ส่วนใหญ่ เป็นการส่งจำหน่ายให้กับห้างโมเดินเทรด บริษัทผู้ส่งออก และเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ ส่งผลทำให้การกระจายผลผลิตของสหกรณ์เป็นไปด้วยความรวดเร็วและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทันเวลา