คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้างสิ้น มี.ค..61 อยู่ที่ 41.04% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2018 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีจำนวน 6,454,168.89 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.04% ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,145,028.98 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 918,898.16 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 381,046.94 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 9,194.81 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 9,522.95 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. หนี้รัฐบาล จำนวน 5,145,028.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 9,945.30 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหนี้รัฐบาล ดังนี้

  • เงินกู้ภายใต้แผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นสุทธิ 52,226.87 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ จำนวน 70,508.21 ล้านบาท การไถ่ถอนพันธบัตร 10,477.34 ล้านบาท และการลดลงของตั๋วเงินคลัง 7,804 ล้านบาท
  • เงินกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 4,291.61 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 920.19 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 304.81 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 382.59 ล้านบาท และ สายสีเขียวจำนวน 232.79 ล้านบาท (2) การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 3,371.42 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ จำนวน 1,600 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร จำนวน 646.50 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 573.79 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 452.67 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 98.46 ล้านบาท
  • การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน
  • การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 2,059.14 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
  • เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ลดลง 44,800 ล้านบาท เนื่องจากได้นำไปชำระคืนหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้ที่ครบกำหนดในวันที่ 13 มีนาคม 2561
  • หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 85.96 ล้านบาท เนื่องจากการเบิกจ่ายและชำระคืนเงินกู้สกุลเงินต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

2. หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 918,898.16 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 16,893.64 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

  • หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 4,183.31 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  • หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 12,710.33 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 381,046.94 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 2,523.65 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

4. หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 9,194.81 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 50.96 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากหนี้ที่ลดลงของสำนักงานธนานุเคราะห์

ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 6,454,168.89 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 6,184,166.52 ล้านบาท หรือ 95.82% และหนี้ต่างประเทศ 270,002.37 ล้านบาท (ประมาณ 8,421.46 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 4.18% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,824,318.73 ล้านบาท หรือ 90.24% และหนี้ระยะสั้น 629,850.16 ล้านบาท หรือ 9.76% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ