นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาดว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันตกต่ำและปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ส่วนเกิน โดยจะเสนอมาตรการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาวันที่ 11 พ.ค.นี้
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น ประสานให้กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเกรดเอ ต้องรับซื้อผลปาล์มสด เปอร์เซ็นต์น้ำมันไม่ต่ำกว่า 18% ขึ้นไป เพื่อบังคับให้เกษตรกรต้องผลิตปาล์มให้มีคุณภาพ และจะขายได้ในราคาดี, มาตรการส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ โดยรัฐจะช่วยเหลือลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ส่งออก, สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ เข้มงวดการตรวจสอบการขนส่งน้ำมันปาล์มผ่านแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำหนดให้ขนผ่านแดนได้ไม่เกิน 40,000 ตันต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำมันปาล์มตกค้างในไทย
นอกจากนี้จะประสานกระทรวงพลังงานให้ส่งเสริมการผลิตและใช้ไบโอดีเซล บี 20 สำหรับรถบรรทุกให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากตลาดได้ปีละประมาณ 250,000 ตัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือน
ส่วนมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว จะส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ผลิตผลปาล์มดี มีคุณภาพ หรือมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันไม่ต่ำกว่า 18% รวมถึงสั่งการให้คณะอนุกรรมการฯศึกษาแนวทางในการโค่นต้นปาล์มเก่า อายุ 20-22 ปี และใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพในการเพาะปลูก และศึกษาการวางตำแหน่งของไทยในตลาดโลกในด้านอุตสาหกรรมปาล์มทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการผลิตสินค้าแปรรูป ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมโอลีโอเคมี เป็นต้น
"เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้ จะช่วยผลักดันให้ราคาผลปาล์มมีเสถียรภาพ และแก้ปัญหาผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินได้ แต่ในอนาคต อยากเห็นอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย พัฒนาไปจนถึงขั้นผลิตสินค้าแปรรูปจากปาล์มได้มากขึ้น ซึ่งต้องการเห็นราคาผลปาล์มสดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 3 บาท"รมว.พาณิชย์ กล่าว