นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาในงาน True Business Forum 2018 : The Digital Future to Sustainability หัวข้อ กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจไทยกับการพัฒนาอยางยั่งยืนว่า ขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในรั้วของ Operation system ซึ่งเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในโลกยุคใหม่ โดยโจทย์ที่ทุกคนจะต้องทำ คือ การปรับ My set การปรับ Skill set เช่น จะต้องจัดสมดุลระหว่างตัวเราเองกับหุ่นยนต์อย่างไร, จะสามารถก้าวไปจาก Internet Of Thing สู่ Internet Of Value อย่างไร และธุรกิจหลักที่มีอยู่ จะใช้พลังมหาทุน ที่ไม่ต้องใช้ปัญญามหาชน หรือ Digital Of The Cloud อย่างไร เป็นต้น
"เราจำเป็นที่จะต้องมอง 2 แบบ คือ โลกปัจจุบัน ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ และมีความยากจนอยู่ กระทรวงวิทย์ฯ จะเข้าไปช่วยอย่างไร ขณะเดียวกันโลกอนาคต กระทรวงวิทย์ฯ จะเข้ามาเตรียมการอย่างไร จึงออกมาเป็น วิทย์สร้างชาติ ซึ่งมี 4 มิติ คือ วิทย์แก้จน, วิทย์สร้างคน, วิทย์สู่ภูมิภาค และวิทย์เสริมแกร่ง ซึ่งจะเป็นการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ และเป็นทางออกไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง"
ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการในเรื่องของ Internet Of Things (IoT) หรือที่เรียกกันว่าเป็น Platform สำหรับ Internet Of Everything ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 2 หมื่นราย เพื่อเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตในเชิง Industry ซึ่งในอนาคตจะขยายไปสู่ในเรื่องของ Consumer, House So และส่วนอื่นๆ ที่จะเข้าไปตอบโจทย์ในเรื่องของ Smart city
อีกทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องของ Big Data ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญของภาครัฐ ในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน โดยร่วมกันพัฒนาโปรแกรมกับทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และได้นำข้อมูลจากกระทรวงการคลัง มาสำรวจครั้งใหญ่ ซึ่งพบว่ามีประชาชนประมาณ 11.4 ล้านคน ยังเป็นผู้ด้อยโอกาส หรือผู้มีรายได้น้อย โดยนำมารวมกันกับข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อสำรวจลงไปในทุกพื้นที่ ซึ่งเรียกว่า วิทย์แก้จน เพื่อให้ประชาชนสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้
ด้านนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้แนวคิดโลกดิจิทัลแห่งอนาคตสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน (The Digital Future to Sustainabillity) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในหัวข้อ Future Business in Digital Era: อนาคตธุรกิจในยุคดิจิทัล ว่า AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น จะเห็นได้จากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ได้นำเอาหุ่นยนต์ เข้ามาให้บริการการส่งอาหารภายในคอนโดมิเนียม รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในธุรกิจบริการ อย่าง อูเบอร์ และ Grab ฉะนั้น เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาด สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ Skill ที่จะต้องตรงกับโลกของดิจิทัล โดยสิ่งที่ภาครัฐ อยากจะนำเสนอประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐาน, กฎระเบียบ, มาตรการส่งเสริมกลไก และการพัฒนาบุคคลากร
สำหรับในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงดิจิทัลฯ กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งโครงการที่สำคัญคือ โครงการเน็ตประชารัฐ หรือการขยายอินเทอร์เน็ตลงไปสู่ชุมชน 7.5 หมื่นหมู่บ้าน แบ่งเป็นของผู้ให้บริการภาคเอกชนที่ดำเนินการอยู่ประมาณ 3 หมื่นหมู่บ้าน ซึ่งในส่วนดังกล่าวภาครัฐไม่ได้เข้าไปดำเนินการ โดยส่วนของภาครัฐได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 2.47 หมื่นหมู่บ้าน และเหลืออีก 1.5 หมื่นหมู่บ้าน คาดว่าในเดือนธ.ค.61 ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการเพิ่มสายเคเบิลใต้น้ำ (Submarine cable) ในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งต่อข้อมูลต่างๆ
นอกจากนี้ในเรื่องของกฎหมายดิจิทัล ซึ่งทางดีอี ได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม โดยกฎหมายฉบับนี้จะเกี่ยวข้องกับ กองทุน ที่สามารถให้ผู้ที่ต้องการลงทุน ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน เข้ามาขอเงินลงทุนได้ โดยไม่จำกัดวงเงิน และเป็นการให้เปล่า ซึ่งขณะนี้มีวงเงินในกองทุนประมาณ 1 พันล้านบาท
ขณะที่กฎหมายฉบับที่ 2 คือ การควบคุมการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ทั้งความมั่นคง การก่อการร้าย และการกระทำผิดทุกชนิดทางคอมพิวเตอร์ โดยสิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้ามาและเกี่ยวข้องกับประชาชน คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกทั้งยังอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องของพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อีกด้วย
นางวรรณพร กล่าวว่า สำหรับกลไก หรือมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน จะแบ่งเป็น 4 ประเด็น คือ Smart city ภาครัฐคาดว่าภายใน 5 ปีนี้ จะดำเนินการได้ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี และคาดว่าจะดำเนินการได้ครบทั้ง 77 จังหวัด ได้ภายใน 10 ปี,
Digital park โดยจะดำเนินการสร้างขึ้นในส่วนของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ซึ่งกระทรวงฯ กำลังเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และ นำโครงข่าย 5G เข้ามา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายในพื้นที่และให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง, การส่งเสริมระดับชุมชน โดยได้จับมือกับไปรษณีย์ ในเรื่องของโลจิสติกส์ ที่จะเข้าไปเชื่อมโยงกับร้านค้าทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งของ
พร้อมกันนี้ ทางดีอียังได้ร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานอย่าง UN และไมโครซอฟท์ เพื่อกำหนดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ทั้งระดับมัธยมศึกษา จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อให้ครู อาจารย์ เด็ก และผู้ปกครอง สามารถแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ขณะที่ยังทำเรื่องของสตาร์ทอัพด้วย โดยการให้ความรู้แก่สตาร์ทอัพ คาดว่าจะมีนักธุรกิจที่เกิดขึ้นจากสตาร์ทอัพราว 1 หมื่นคน
Mr.Bernd Sven Vindevogel Chief Operating Officer หน่วยงาน Analytics Business บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในงานสัมมนา True Business Forum 2018 ภายใต้แนวคิดโลกดิจิทัลแห่งอนาคตสูธุรกิจที่ยั่งยืน (The Digital Future to Sustainability) ในหัวข้อ opportunity from Big Data and AI สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยบิ๊กดาต้า และเอไอว่า การใช้งาน BIG DATA ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณ แต่อยู่ที่จะมีการนำมาใช้งานได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งสิ่งที่ยาก คือ การแยกแยะข้อมูล โดยบิ๊กดาต้าได้ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศซึ่งช่วงแรกๆ ได้ใช้กับธุรกิจ customers ในการหาราคาสินค้า และขยายมาสู่ธุรกิจ call center เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อจะได้รู้ถึงความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ในเรื่องของ AI ธุรกิจขนาดเล็กอาจจะไม่ต้องลงทุนระดับหลายล้าน แต่ควรมุ่งเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก เช่น การจัดโปรโมชั่น ซึ่ง True ก็มีการนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า เช่น ทรู ไอดี ซึ่งมีลูกค้าที่ดูวิดีโอสตรีมมิ่ง ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้ว่าลูกค้ารับอะไรไปบ้าง โดยสิ่งที่อยากจะฝากผู้ประกอบการรายเล็ก คือ การมีความคิดสร้างสรรค์ อย่าก็อปปี้บริษัทใหญ่
นายธีรวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Business Intelligece and Data Science ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำ DATA เข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นดาต้าขนาดไหน สิ่งที่สำคัญคือ ต้องถามตัวเองก่อนว่าจะใช้เพื่ออะไร เช่น เพื่อให้เข้าใจลูกค้า ซึ่งจะทำให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาประยุกต์ใช้กับโปรดักส์หรือเซอร์วิสของเราได้ ขณะที่สิ่งที่ต้องระวัง คือ การนำดาต้ามาใช้โดยไม่ได้ตรวจสอบ หรือไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างแท้จริง และการให้ความรู้ของคนในการทำดาต้าทั้งหลาย ซึ่งการนำไปใช้สิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนมุมมองของคนในองค์กร หากมีการนำไปใช้ต้องเข้าใจว่างานทุกงานมีประโยชน์ และมีความสำคัญกับองค์กร
สำหรับการนำ AI เข้ามาใช้ในอนาคต มองว่าจะมีบางอาชีพที่ปรับตัวลง เช่น แคชเชียร์ เป็นต้น แต่เมื่อเอไอเข้ามามีบทบาท มนุษย์เองก็จำเป็นต้องพัฒนา
"ถ้า AI เปลี่ยนแปลงโลกได้ เชื่อว่าคนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ไม่อยากให้องค์กรเข้าใจว่าจะนำเอไอเข้ามาลดต้นทุนได้อย่างเดียว แต่ก็ควรฝึกพัฒนาบุคลากรด้วย ไปในสิ่งที่เอไอไม่สามารถทำได้ และเพื่อให้อยู่ร่วมกับเอไอได้เช่นกัน" นายธีรวัฒน์ กล่าว
สำหรับธนาคารฯ ได้นำบิ๊กดาต้ามาบริหารจัดการภายในองค์กร เช่น ใช้ในการตรวจสอบเงินในตู้เอทีเอ็มว่ามีเพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าหรือไม่, การปล่อยกู้, การขายสินค้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของลูกค้าได้เลย รวมไปถึงการปรับโครงสร้างของสาขาของแบงค์ การลดขั้นตอนการเปิดบัญชี การลิงค์ข้อมูลเข้ากับภาครัฐ เป็นต้น
นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม Innovation Lab/Venture Capital บมจ. ปตท. (PTT) กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของข้อมูลขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูลว่ามาจากที่ใด ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ดีมักจะเกิดจากตัวผลิตภัณฑ์ และเมื่อนำออกไปสู่ลูกค้าแล้วลูกค้าก็จะตอบกลับ โดยสิ่งที่สำคัญคือการนำข้อมูลที่ถูกต้องมาใช้จากฐานข้อมูลของเราเอง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ก็มีการนำบิ๊กดาต้า และเอไอเข้ามาใช้ในธุรกิจ ทำให้จะสามารถรู้ความต้องการของลูกค้า และสามารถต่อยอดการทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการได้มากขึ้น ขณะที่ก็จะส่งผลต่อต้นทุนองค์กรที่จะปรับตัวลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะแนะนำผู้ประกอบการในการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ คือ ต้องเข้าใจปัญหาของลูกค้าคืออะไร และเมื่อมีดาต้าแล้วจะต้องกล้าใช้ อย่าเพียงแต่นั่งในห้องประชุม เพราะการตัดสินใจลงมือทำก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
Mr.Htin Hlaning Chief Technology Officer บริษัท พันธวณิช จำกัด กล่าวว่า การเก็บข้อมูลในช่วงแรกบางทีอาจจะไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง แต่พอมีบิ๊กดาต้าเข้ามา ทำให้สามารถกรองในสิ่งที่ต้องการเข้ามาได้ ซึ่งนอกจากการเก็บข้อมูลแล้ว ทางบริษัทฯ ยังได้นำบิ๊กดาต้ามาใช้งานภายในองค์กรด้วย เช่น การบริหารความเสี่ยง, การจัดการทรัพยากร เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของเอไอ ในอนาคตข้างหน้ามองว่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น การดำเนินธุรกิจ หรือมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา หรือก้าวไปกว่าคนอื่นหนึ่งก้าวให้ได้ อีกทั้งให้ถามตัวเองก่อนว่าองค์กรมีอะไรแล้วบ้าง แล้วการจัดการดาต้าได้ดีขนาดไหน และจึงกลับมาพัฒนาองค์กร