"สมคิด" ชี้ศก.ไทยกำลังดีขึ้น มั่นใจ GDP ปีนี้โต 4% แนะคนไทยปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยันรัฐบาลเร่งเตรียมความพร้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 10, 2018 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 18 Money Expo 2018 โดยยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้แตะระดับ 4% อย่างแน่นอน และถือเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับนี้ โดยเป็นการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความพยายามของรัฐบาลที่ได้เข้ามาวางรากฐานต่างๆ ให้แก่ประเทศนับตั้งแต่ปี 57 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นการบริหารประเทศภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ก็ตาม "เรากำลังอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน รัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปได้ดีที่สุด ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้ดีที่สุด เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง...เชื่อมั่นว่าจะเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่ได้เห็น GDP แตะระดับ 4% ซึ่งเราไม่ได้เห็นมานานแล้ว ถ้าแตะระดับนี้ได้ก็จะเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตข้างหน้า" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะให้ได้ว่าดัชนีหลายตัวที่เป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น เช่น ดัชนีด้านการบริโภค ด้านการลงทุน ซึ่งในส่วนของ SET Index นั้นแม้ดัชนีจะปรับตัวลดลงไปบ้างแต่ก็เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันทั่วโลก และมองว่าดัชนีหุ้นไทยในระยะยาวยังมีแนวโน้มที่ดี นายสมคิด กล่าวด้วยว่า แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเริ่มแตะระดับที่ 4% แต่ก็ยังมีปัจจัยท้าทายอีกหลายเรื่องที่ต้องเผชิญ เช่น การยอมรับจากต่างประเทศ, ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งในภาคการเงิน การธนาคาร ประกันภัย และตลาดทุน ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภค การจับจ่ายใช้สอย และภาคการผลิตที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรง "จากนี้เทคโนโลยีจะเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง ทั้งพฤติกรรมของประชาชน การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การผลิตที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เหมือนเป็นการเปลี่ยน Business Model ซึ่งถ้าไม่ยอมเปลี่ยนก็จะลำบากแน่นอน" รองนายกรัฐมนตรี ระบุ นายสมคิด คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ โดยรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในส่วนนี้ และจะพยายามส่งเสริมให้ฝ่ายที่กำกับดูแลมีการติดตามตรวจสอบ ดูแลความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ