"สมคิด"มอบคลัง-ธปท.หารือร่วมสภาวิชาชีพบัญชีการใช้มาตรฐาน IFRS9 กำชับต้องไม่แทรกแซง,แบงก์หนุนห่วงกระทบลูกค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 10, 2018 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้เลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 จากปี 62 ไปเป็นปี 65 ว่า ได้มอบนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาวิชาชีพบัญชีไปหารือกันอย่างรอบคอบ โดยได้กำชับให้พิจารณาถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศ และที่สำคัญจะต้องไม่มีการเข้าไปแทรกแซง

"เป็นการดีที่ไทยจะมีมาตรฐานบัญชีที่เป็นสากลระดับโลก แต่ต้องสอดคล้องกับความจริงของไทย เราสามารถปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสิ่งเหล่านี้ ทุกอย่างต้องใช้เวลาบ้าง ไม่เป็นไร ไม่ได้บังคับ แต่ให้กระทรวงคลัง แบงก์ชาติ และสภาวิชาชีพบัญชีไปหารือกันอย่างใกล้ชิด เพราะต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเพิ่งฟื้นจากความถดถอย และยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก แต่อย่าไปพยายามแทรกแซง เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจและช่วยกันดูแล" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ซึ่งการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่อาจกระทบในวงกว้างจากการที่มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ภาคธุรกิจเกิดความกังวล เนื่องจากระบบบัญชีใหม่จะมีการสำรองที่ครอบคลุมมากขึ้นทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงรวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อศึกษาถึงผลดีผลเสียต่างๆ โดยจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ และทาง กกบ.จะนัดประชุมในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ยังไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการสรุปในเรื่องนี้ที่ชัดเจน

"แม้ธนาคารพาณิชย์เตรียมความพร้อมเรื่องนี้มาเกือบ 2 ปีถือว่ามีความพร้อมแล้วในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มใช้จริงก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องตีความเพิ่มอยู่ยังไม่ 100% ก็คงจะต้องแก้ไขเป็นจุดๆไป ในขณะที่หน่วยงานต่างๆ อย่างสภาอุตฯ เองก็ทราบเรื่องอยู่ แต่เมื่อใกล้เวลาก็อาจจะมีความกังวลถึงผู้ประกอบการในบางกลุ่ม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังมีระบบบัญชีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรการ ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ไม่กระทบมากนัก เพราะมีระบบการจัดการอยู่แล้วจึงเสนอให้เลื่อนการใช้ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้การเลื่อนใช้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทางผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว เพราะหากเลื่อนแล้วยังอยู่อย่างเดิม เดี๋ยวก็ต้องเจอปัญหาอีก"นายปรีดี กล่าว

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐาน TFRS9 ออกไปอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาตินั้น นายปรีดี มองว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากส่วนของธนาคารพาณิชย์ เพราะเราอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.ที่ได้มีการหารือ และเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจะเห็นได้ว่าเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แต่สมาคมธนาคารไทยเป็นส่วนหนึ่งของ กกร.จึงต้องร่วมพิจารณาผลกระทบในวงกว้างด้วย

"การที่ประเทศอื่นใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 แล้วนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อม และ โครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเขาอาจจะมีกลุ่มเอสเอ็มอีน้อย แต่เรามีมากความพร้อมก็ต่างกันไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกันได้"นายปรีดี กล่าว

ขณะที่นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมพร้อมมากว่า 2 ปี จึงไม่มีผลกระทบใดๆ ไม่ว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนการบังคับใช้ แต่ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่เข้าใจถึงมาตรฐานดังกล่าว จึงควรดูที่ความพร้อมของผู้ประกอบการเป็นหลัก

นายชาติศิริ โสภณพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ได้ประเมินผลกระทบจากการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 เพราะรอการประกาศกฏเกณฑ์จากทางการออกมาก่อน

และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ด้วยการทยอยตั้งสำรองมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจนแล้วธนาคารก็จะนำมาประเมินผลกระทบอีกครั้ง โดยหากมีการบังคับใช้ธนาคารก็มีความพร้อม และหากเงินตั้งสำรองไม่เพียงพอก็จะไปใช้ต้องตั้งสำรองพิเศษแทน

"ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเราจะต้องตั้งกี่เปอร์เซ็นต์ ขอรอกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทยอยตั้งมาอย่างต่อเนื่อง และมองว่าไตรมาส 2/61 ก็จะทยอยตั้งเพิ่มขึ้นต่อ เพราะไม่รู้ว่าที่ผ่านมาเราตั้งเกินไปเท่าไหร่ หรือยังขาดมากน้อยแค่ไหน โดยกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อย จะได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่"นายผยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการตั้งสำรอง คือ ต้นทุนของธนาคาร หากต้นทุนเพิ่มขึ้นธนาคารก็ต้องส่งผ่านไปยังลูกค้า ซึ่งการปล่อยกู้ของธนาคารต้องดูตามความเสี่ยงเป็นรายๆ หากความเสี่ยงต่ำธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ แต่ถ้าความเสี่ยงสูงก็ต้องคิดดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่าการเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ออกไปจะเป็นผลบวกต่อการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ยังไม่ได้มีการเตรียมระบบรองรับไว้ล่วงหน้า ซึ่งต่างจากภาคธนาคารพาณิชย์ที่เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

ทั้งนี้ ผลกระทบหากมาตรฐานบัญชีใหม่บังคับใช้ตามกำหนดเดิมอาจจะกระทบกับธุรกิจเอเสอ็มอี ทำให้มีต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ออกไปจะทำให้ภาคธุรกิจทุกส่วนมีเวลาการเตรียมความพร้อมปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น

ส่วน CIMBT ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าว เพราะการรายงานข้อมูลทางการเงินในปัจจุบันใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ตั้งแต่ต้นปี 61 ตามธนาคารแม่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งการตั้งสำรองฯเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ทั้งหมดแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ