นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ได้หารือกันถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
สำหรับรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มีวงเงินลงทุน 7,469.43 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาและระบบราง 3,530.96 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 1,997.33 ล้านบาท ค่าจัดหาตู้รถไฟฟ้า 1,713.17 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาประกวดราคา 10 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 177.73 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ(ICE) 40.24 ล้านบาท
ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มีวงเงินลงทุนรวม 10,202.18 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาและระบบราง 7,387.65 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,531.36 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ 30.19 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 271.98 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาประกวดราคา 10 ล้านบาท
ส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาและระบบราง 3,874.29 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,197.17 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 295 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ 21.97 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 166.97 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาประกวดราคา 10 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน 5 ล้านบาท
ทั้งนี้ รฟท.ได้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม 5 ประเด็น ได้แก่ ภาพรวมของสายสีแดงทั้งระบบ ประกอบด้วย ช่วงบางซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์-อยุธยา-บ้านภาชี, ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-มหาชัย-ปากท่อ, ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายา-นครปฐม และตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก-ฉะเชิงเทรา, รูปแบบการเดินรถของรถไฟทั้งหมดซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนจากรถดีเซลเป็นรถไฟฟ้าในอนาคต
จำนวนรถไฟฟ้าที่ใช้สำหรับสายสีแดง ซึ่ง รฟท.เสนอขอจัดซื้อสำหรับให้บริการช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จำนวน 4 ขบวน (ขบวนละ 4 ตู้), ช่วงซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ จะแยกทางวิ่งระหว่างรถไฟฟ้ากับรถทางไกล เนื่องจากมีปริมาณการเดินรถหนาแน่น ขณะที่ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน-ศาลายา จะใช้ทางร่วม หรือ แชร์แทร็ก โดยจะมีการติดตั้งระบบควบคุมรถไว้ที่หัวจักรดีเซล เพื่อควบคุมการเดินรถให้เกิดความปลอดภัย และการหารือร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชในการใช้พื้นที่บริเวณสถานีศิริราชร่วมกัน เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชขอใช้พื้นที่ของ รฟท.ก่อสร้างเป็นอาคารสูง 12 ชั้น ส่วน รฟม.จะต่อสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม–บางขุนนนท์) ไปยังศิริราช ซึ่งจะต้องทำการเชื่อมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก