นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงทิศทางการเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีมียอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงาน(รง.4) จำนวนทั้งสิ้น 1,489 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 36,275 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค. – เม.ย.) ยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงาน(รง.4) ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ โรงงานเอสเอ็มอีที่ขอใบอนุญาตและขยายประกอบกิจการ รง.4 สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 194 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 6,187 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 148 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 4,016 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 132 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 3,340 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้108 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 2,426 ล้านบาท และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ 92 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 2,375 ล้านบาท
นายมงคล กล่าวว่า เพื่อให้การเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2561 นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวให้ก้าวสู่การเป็น SMEs 4.0 โดยได้กำหนดนโยบายและวางเป้าหมายการดำเนินงานที่จะเดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการในการยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน ลดใช้พลังงาน ภายใต้แนวคิด "DIW SMART FOR SMEs" ซึ่งมีแนวทางในการสนับสนุนอย่างครบวงจร 5 ด้าน ได้แก่ 1. Smart lnnovation การสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต ที่จะให้คำปรึกษาถ่ายทอดองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นควบคู่ไปกับการลดใช้พลังงาน อาทิ โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด หรือ หม้อน้ำสมองกล Smart boiler ที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการนำไปขยายการผลิตภายในโรงงานได้
2. Smart Matching การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ความรู้ด้านวิชาการจากสถาบันการศึกษา และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ0จากสถาบันงานเงิน ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเชื่อมโยงจับคู่ให้กับโรงงาน เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมทั้งมีแหล่งเงินหมุนเวียนเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดระดับสากล
3. Smart Online สนับสนุนด้านระบบออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้สามารถประมวลผล แจ้งเตือน และการวิเคราะห์ประเมินผล โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence: AI) มาเป็นตัวช่วยเอื้อต่อความสะดวกสบายของผู้ประกอบการทั้งในการดำเนินกิจการ ระบบสืบค้นข้อมูล การจองคิวบริการล่วงหน้า นำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลในคำขออนุญาตและแจ้งผลให้ทราบทันที หรือใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที หรือจะเป็นระบบตรวจสอบมลพิษแบบเรียลไทม์
4. Smart Safety การสนับสนุนด้านความปลอดภัยที่กรอ.ได้ร่วมกับ อีก 6 กระทรวงในการร่วมบูรณาการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อลดอัตราการประสบอันตรายระหว่างปฏิบัติงานให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายทั้งเจ้าหน้าที่ พนักงาน และประชาชนโดยรอบ
5. Smart Environment การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจในการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่สามารถลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการบำบัดกำจัดของเสียภายในโรงงานพร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดความขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบ อาทิ โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว CSR-DIW และ Eco Industrial Town