นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) กล่าวในงานสัมมนา "เจาะวิกฤต จับโอกาส มองขาดการลงทุนครึ่งปีหลัง" ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงจับตาไปที่สหรัฐฯ เป็นหลัก ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าสหรัฐฯ จะสามารถเจรจากับจีนได้ เพื่ออำนวยให้สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนได้มากขึ้น ซึ่งในเรื่องดังกล่าวก็คงไม่ได้กระทบกับการส่งออกของไทย และสงครามตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านก็เชื่อว่าจะเจรจากันได้
พร้อมคาดว่าในระยะสั้นหรือช่วง 2 เดือนต่อจากนี้ ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 85 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็อาจส่งผลกดดันต่อค่าเงินบาทให้ปรับตัวอ่อนค่าลง และการนำเข้าน้ำมันของไทยที่อาจส่งผลให้ขาดดุลทางบัญชีได้ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 70 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในไตรมาส 2/61 มีโอกาสปรับตัวอ่อนค่าแตะ 32.50 บาท/ดอลลาร์ และในไตรมาส 3/61 จะอยู่ที่ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ โดยจะกลับมาแข็งค่าในไตรมาส 4/61 ส่งผลทำให้เงินบาทสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์
"ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันเราตามข่าวต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้เงินไหลออก และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า โดยมองในช่วงไตรมาส 2/61 เงินบาทน่าจะอ่อนค่าแตะ 32.50 บาท แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นความกังวลในระยะสั้นเท่านั้น" นายอมรเทพระบุ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยในครึ่งปีแรก คาดจะขยายตัวได้ 3.7% และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 3.8-4% โดยคาดหวังในครึ่งปีหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะมาจากการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยหนุนกำลังซื้อให้ฟื้นกลับคืนมา แต่ต้องกระจายไปให้ถึงทุกภาคของประเทศ โดยคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้น เช่น การจ้างงานในท้องถิ่นที่ไม่ใช่การอุดหนุนราคา เพื่อให้เศรษฐกิจฐานล่างขับเคลื่อนไปได้ โดยยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 3.7%
นายอมรเทพ ยังแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ว่า นักลงทุนควรหาช่องทางการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงไปในต่างประเทศ เนื่องจากยังเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะปรับขึ้นทั้งหมดรวม 4 ครั้งภายในปีนี้ ขณะที่นักลงทุนที่มองเงินฝากในประเทศไทย ให้มองในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อว่ามีการปรับตัวขึ้นจากปัจจัยใด ซึ่งทางฝ่ายวิจัยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ก่อนภายในปีนี้ และน่าจะปรับขึ้นได้ในปี 62 อีก 2 ครั้ง รวมถึงให้ดูในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าเติบโตแบบกระจายตัวหรือไม่
ด้านนายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน CIMBT กล่าวว่า สิ้นปีนี้มองเงินบาทน่าจะอยู่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ จึงมีความจำเป็นซื้อดอลลาร์ฝากไว้ เพื่อให้ดอกเบี้ยสูง และควรกระจายการลงทุนให้หลากหลาย ซึ่งในวันนี้ทางธนาคารก็ถือว่าเป็นตัวแทนให้นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศได้
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นในภาวะ sideway ทางธนาคารฯ มีผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ที่อ้างอิงหุ้น ซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ราว 8-15% (ตามกรอบดัชนีที่คาดการณ์)
นายธีระวุฒิ กานต์นิภากุล ผู้อำนวยการ Equity Derivative บริษัทหลักทรัพย์ CGS-CIMB กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นไทยในะระยะสั้น โดยมองว่ายังคงแกว่ง sideway ในกรอบ 1,720-1,750 จุด โดยมีปัจจัยมาจากทิศทางค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะสั้นนี้ทิศทางค่าเงินบาทไม่น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่าใดนัก แต่การที่เงินบาทอ่อนค่าก็เป็นความผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น โดยยังมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้จากการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ, กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS Growth) ที่คาดว่าจะเติบโต 10% ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นต่อเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ โดยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้น (3 เดือนนี้) น่าจะไม่หลุด 1,700 จุด และคาดสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1,985 จุด
"เราคิดว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่ลงลึก แกว่ง sideway ในะระยะ 3 เดือนเท่านั้น หากตลาดลงแรง แนะนำให้ซื้อสะสมได้ แต่ถ้าเทรดระยะสั้น ให้หาการลงทุนประเภทอื่นดีกว่า อย่างไรก็ตาม โอกาสที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปีก็มีความเป็นไปได้สูงจากเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อดัชนีคือ ราคาน้ำมัน การปรับขึ้นดอกเบี้ของสหรัฐฯ และการเลือกตั้งในประเทศ ถ้าไม่ได้เป็นไปตามโรดแมพ อาจจะกระทบความเชื่อมั่น และดัชนีอาจจะหลุดกรอบเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้" นายธีระวุฒิระบุ
สำหรับหุ้นกลุ่มที่ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ลงทุนในระยะสั้น ได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีให้ทยอยซื้อสะสม ส่วนการลงทุนระยะยาว ได้แก่ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น TMB และ BBL, หุ้นกลุ่มสื่อสาร เช่น ADVANC และ TRUE, หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เช่น CENTEL, SPA, หุ้นกลุ่มส่งออก และหุ้นที่เกี่ยวกับการลงทุนใน EEC รวมถึงค้าปลีก เช่น CPALL และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น HANA, KCE
"สิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดฯ คือ ทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งต้องจับตาดูกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันเป็นหลัก แต่เชื่อว่าจะยังปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น เราแนะนำให้เทรดดิ้งระยะสั้น ส่วนการลงทุนระยะยาว มองกลุ่มที่ปรับตัวลงเยอะที่สุดในช่วงที่ผ่านมา เช่น หุ้นกลุ่มเกษตร, อิเล็กทรอนิกส์ และแบงค์ ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ รวมถึงกลุ่มส่งออก และการท่องเที่ยว" นายธีระวุฒิกล่าว