น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการออกประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคความเสี่ยงจากการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลว่า กฎระเบียบเดิมที่ไม่ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี เพื่อเป็นการดูแลความเสี่ยงของการเข้าไปลงทุน ซึ่งขณะนี้ความเสี่ยงต่างๆยังอยู่ดังนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์สำหรับธนาคารพาณิชย์ใดๆ
ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล 5 ข้อ คือ ห้ามการเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายในสกุลเงินดิจิทัล เพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเองหรือผลประโยชน์ของลูกค้า, ห้ามให้บริการรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน, ห้ามสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลระหว่างกัน, ห้ามให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อสกุลเงินดิจิทัล และ ห้ามสนับสนุนหรือให้คำปรึกษากับลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนหรือการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยถึงผลกระทบการบังคับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ว่า ยังประเมินได้ยาก เพราะ 1.มีการปรับวิธีการคำนวณการสำรองเปลี่ยนแปลงไป เผื่อในอนาคต ไม่ได้เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน 2.กระทบกับต้นทุนธนาคาร ความเสี่ยงและการสำรองอื่นๆ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้มีการประเมินไว้แล้ว แต่ผลกระทบและวิธีการแต่ละแห่งประเมินได้ยาก ซึ่งยอมรับว่าการบังคับมาตรฐานบัญชีใหม่ จะมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีและต้นทุนดอกเบี้ยอยู่บ้าง แต่จะมากหรือน้อยคงประเมินไม่ได้
"การบังคับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่ผ่านมาธนาคารมีการเตรียมการพอสมควร และได้สำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่เพิ่มไป 4-5 หมื่นล้านบาทไปตั้งแต่ปี 2558 ส่วนการจะบังคับใช้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับ คณะกรรมกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เพราะไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถาบันการเงินอย่างเดียว แต่มีส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น ส่วนราชการลูกค้า ผู้สอบบัญชี การตัดสินใจจะต้องพิจารณาในภาพรวม"