คกก.SEA เตรียมเสนอรัฐตั้งที่ปรึกษาตอบโจทย์ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่คาดรู้ผลปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2018 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯได้ยกร่างข้อกำหนดกรอบการศึกษา (TOR) การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โดยจะเสนอรัฐบาลเพื่อออก TOR จ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาแผนยุทธศาสตร์ว่าภาคใต้จะมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากพบว่าไม่มีความเหมาะสมก็จะพิจารณาว่าจะมีพลังงานทางเลือกอื่นใดที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ดังกล่าว

โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับการศึกษาครั้งนี้ราว 50 ล้านบาท และคัดเลือกที่ปรึกษาได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า มีกรอบระยะเวลาศึกษา 9 เดือน แต่ภายใน 5 เดือนแรกน่าจะสามารถตอบโจทย์ได้ว่าภาคใต้ควรจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ส่วนการตัดสินใจว่าพื้นที่ภาคใต้จะมีเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายของรัฐบาลต่อไป

"ณ วันนี้คณะกรรมการประชุมกันมาแล้ว 3 หน ก็ได้วางกรอบการศึกษาไว้แล้วและยกร่าง TOR ก็จะครอบคลุมทุกทางเลือกของการพัฒนา และให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กระบวนการ SEA ทั้งหมดเปิดเผยและโปร่งใส"นางสาวนันธิกา กล่าว

นางสาวนันธิกา กล่าวว่า หลังจากมีการเปิดเผยกรอบการศึกษาแล้ว ก็จะเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาแหล่งเงินเพื่อเข้าสู่กระบวนการจ้างต่อไปตามระเบียบ โดยเบื้องต้นอาจจะเป็นแหล่งเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หรือกองทุนอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยยืนยันว่าจะไม่ใช้แหล่งเงินกู้เพื่อทำการศึกษาในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีผลการศึกษาออกมาแล้วก็จะนำข้อมูลดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ใหม่ด้วย เพื่อใข้เป็นกรอบการพัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอีกด้วย

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานร่วมฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้ยกร่างข้อกำหนดการศึกษา SEA สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โดยยึดหลักการศึกษา SEA ที่ต้องครอบคลุมทุกทางเลือกการพัฒนา สามารถตอบคำถามต่อภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องและใช้ประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล ตลอดจนนำไปสู่การกำหนดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานการยอมรับของประชาชน

สำหรับการศึกษา SEA มีหัวใจหลักคือการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ โดยการศึกษาจะพิจารณาทางเลือกและประเมินผลกระทบในแต่ละทางเลือก ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาว่าทางเลือกใดมีความเหมาะสมมากที่สุด โดยกระบวนการจะมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการศึกษาจะครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด 15 จังหวัด รวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย

"คณะกรรมการฯกำหนดกรอบการศึกษาไว้ 9 เดือน แต่ในช่วงแรกของการศึกษาใน 5 เดือนแรก ข้อกำหนดการศึกษากำหนดไว้ผู้ทำการศึกษาจะต้องมีคำตอบให้เราว่าในการพัฒนาพลังงานพื้นที่ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือเปล่า ถ้าไม่มีควรเป็นทางเลือกอะไร อยู่พื้นที่ไหน"นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้จะเป็นการศึกษาในเชิงการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ว่าจะมีทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยคาดหวังผลการศึกษาจะสามารถตอบปัญหาทุกส่วนได้ว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าหลักใด หรือเป็นโรงไฟฟ้าเล็กๆ แบบชีวมวล หรือพลังงานทางเลือกอื่น หรือไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าเลย แต่ใช้วิธีโยงสายส่งจากภาคกลาง หรือการหันมาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการศึกษาจะศึกษาทุกทางเลือกว่ามีความเหมาะสมอย่างไร โดยใช้เกณฑ์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรูปแบบการศึกษา SEA จะเป็นการศึกษาในระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อศึกษาเฉพาะพื้นที่เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ