ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้กม.ดิจิทัลของไทยช่วยสร้างบรรทัดฐานการดูแล ปูทางการเติบโตในระยะยาว ไม่กระทบการระดมทุนใหม่ๆ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2018 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีการออกกฎหมายในลักษณะเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งครอบคลุมเงินดิจิทัลเป็นครั้งแรกสำหรับประวัติศาสตร์ไทย ที่ผ่านมา ในกรณีของประเทศอื่นๆ จะเน้นการประยุกต์ใช้กฎเกณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้กับกรณีของสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ สหรัฐฯ และสวิสเซอร์แลนด์ เพียงแต่ให้ความชัดเจนกับตลาดว่ากฎดังกล่าวจะมีผลกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นไร แต่สำหรับทางการไทยนั้น เลือกที่จะสร้างความชัดเจนด้วยการออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ และจำแนกชนิดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น 2 ชนิด คือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และโทเคนดิจิทัล (Token Digital)

โดยมีความแตกต่างสำคัญคือ สินทรัพย์ดิจิทัลชนิดแรกจะถูกสร้างขึ้นไว้แลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการในลักษณะเดียวกับเงินตราทั่วไป หรือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั่นเอง ในขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลชนิดที่สอง หรือโทเคนดิจิทัล ถูกสร้างมาเพื่อตอบวัตถุประสงค์ด้านการร่วมลงทุนในโครงการ/กิจการ และให้ได้มาซึ่งสินค้า/บริการ/สิทธิอื่นใด ตามที่ ก.ล.ต.กำหนด โดยมีการระบุไว้ชัดเจนว่าทั้งคริปโทเคอเรนซีและโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนด ไม่ใช่หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (มาตรา 5)

นอกจากนี้ ยังได้มีการจำแนกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ 4 ประเภท ที่ครอบคลุมผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งเปรียบเสมือนตลาดกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล) 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่คล้ายศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ดำเนินการซื้อขายจริงนอกศูนย์ดังกล่าว) 4.กิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศตามข้อเสนอของก.ล.ต.

ส่วนประเด็นด้านภาษี ก็มีการกำหนดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 15% ของเงินได้พึงประเมิน ซึ่งคำนวณจาก 1) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน ที่ได้จากการถือหรือการครอบครองโทเคนดิจิทัล และ 2) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนหรือ Capital Gain นั่นเอง ซึ่งอัตรา 15% นี้ เป็นมาตรฐานการเก็บภาษีเดียวกับกรณีตราสารหนี้ เข้าใจว่ามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ซื้อเน้นการลงทุนระยะยาว มากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น

ขณะที่ ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น แม้จะไม่ได้มีการระบุเป็นกฎหมายเพิ่มเติมในขณะนี้ถึงภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้ประกอบการดังกล่าว ก็มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% หรือบุคคลธรรมดาตามขั้นของรายได้รวมทั้งปี ตลอดจนอาจต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับทางการด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นภาษีนี้ทางการอาจมีประกาศเพิ่มเติมเพื่อสร้างความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ใน พ.ร.ก.การประกอบการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีการดูแลควบคุมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (หมวดที่ 3) โดยที่มาตราทั้งหมด กำหนดให้บริษัทที่จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน (การจะออก ICO) ต้องทำตามข้อบังคับจาก ก.ล.ต. ทั้งในด้านการเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน ด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารบริษัท ไปจนถึงการที่บริษัทต้องจัดส่งรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัท ซึ่งทั้งหมดนี้ หากไม่ประพฤติตามจะมีโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

"ทำไมกฎหมายจึงต้องแตะรายละเอียดถึงกระบวนการต่างๆ ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนไม่ว่าจะช่องทางใดย่อมมีความเสี่ยง จึงจำเป็นจะต้องมีการคัดกรองให้ผู้ขายมีคุณสมบัติในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุน การที่ทางการจะตั้งกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้ผู้เสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีภาระรับผิดชอบเช่นเดียวกับบริษัทที่จะนำหุ้นหรือตราสารหนี้ออกขายสู่ประชาชนจึงเป็นเรื่องธรรมดา และแม้ว่าการมีกฎเกณฑ์เช่นทุนการจดทะเบียนหรือข้อมูลบัญชีอาจจะกระทบต่อระยะเวลาที่ต้องใช้ในการออก ICO บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคที่จำกัดโอกาสของธุรกิจ หรือสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพ" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กฎเกณฑ์ที่เน้นการดูแลตั้งแต่การเริ่มกระบวนการเสนอขายไปจนถึงหลังเสนอขาย โดยเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และดูแลการบริหารจัดการโดยผู้บริหารที่มีความสามารถนี้ ก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้ออก ICO มีความรับผิดชอบต่อผู้ซื้อและผู้ลงทุน โดยเฉพาะเมื่อการออก ICO มีลักษณะเฉพาะที่ได้เปรียบการระดมทุนในรูปแบบอื่นอย่างเช่นการเสนอขายหุ้น หรือการกู้ยืมเงิน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม (Dilution) หรือภาระทางหนี้สินเพิ่มเติมให้กับกิจการ ดังนั้น การที่กฎหมายใหม่กระตุ้นให้ฝ่ายผู้ออก ICO มีความรับผิดชอบที่ชัดเจนเช่นนี้ เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานของการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเครื่องมือระดมทุนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองนักลงทุน ควบคู่กับการส่งเสริมการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า กฎหมายใหม่นี้อาจกระทบต่อการพัฒนาช่องทางการระดมทุนใหม่ๆ สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ และการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain นั้น ในความเป็นจริงการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพและอุตสาหกรรม Blockchain ไทยไม่น่าจะต้องประสบความลำบากหรือหยุดชะงักเนื่องจากกฎเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการประกาศออกมา ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเพียงส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบการเงินและโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีของประเทศ โดยยังมีส่วนอื่นอีกมาที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain โดยสถาบันการเงินต่างๆ หลายแห่ง หรือโครงการ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ซึ่งเปิดช่องทางให้บริษัทพัฒนาธุรกิจ Fintech โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Blockchain เช่น P2P Lending

นอกจากนี้ ทางการไทยก็ได้ริเริ่มผลักดันช่องทางการระดมทุนใหม่ประเภทอื่นๆ เช่นตลาดหลักทรัพย์สำหรับสตาร์ทอัพ LiVE ที่จะเริ่มให้มีการซื้อขายกันในปีนี้ ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยที่การพัฒนาในด้านต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างมีเสถียรภาพและความยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ