นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เข้าชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการเริ่มต้นธุรกิจและด้านการได้รับสินเชื่อต่อทีมวิจัยธนาคารโลก (Site Visit) ซึ่งกรมฯ เป็นเจ้าภาพในการดูแลรับผิดชอบตัวชี้วัดทั้ง 2 ตัวนี้ และเป็นหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานแรกที่ได้เข้าชี้แจงฯ ซึ่งการให้ข้อมูลจะเน้นขั้นตอนรายละเอียดการพัฒนากระบวนงานที่ได้ปรับปรุงมาทั้งหมด เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานน้อยที่สุด เป็นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งตอบข้อซักถามทุกประเด็นที่ทีมวิจัยฯ สงสัย
ทั้งนี้ ตามรายงาน Doing Business 2018 ในภาพรวมประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 (อันดับดีขึ้นจากปี 2017 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 46) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 36 (อันดับดีขึ้นจากปี 2017 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 78) ดังนั้น ก่อนการประเมินผลฯ ในปี 2019 กรมฯ ได้ปฏิรูปและพัฒนาการให้บริการด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งทางปฏิบัติและทางกฎระเบียบ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของธนาคารโลกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1) การลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ โดยได้รวมขั้นตอนการจองชื่อนิติบุคคลพร้อมจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ไว้ในขั้นตอนเดียว ได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา
2) การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนฯ เป็นอัตราคงที่ (Flat Rate) และลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ลง 30% ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2561 ทำให้ผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนลดลง เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมระหว่าง 5,500 - 275,000 บาท เป็นเหลืออัตราเดียว 5,500 บาท และหากจดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration จะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 3,850 บาทเท่านั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาใช้ระบบ e-Registration มากขึ้น
3) ตามรายงาน Doing Business 2018 ระบุว่าการเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย ผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและขึ้นทะเบียนลูกจ้าง สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม พัฒนาระบบ Biz Portal เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านระบบออนไลน์ได้
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวต่อว่า จากการปฏิรูปฯ ที่ได้กล่าวมา ได้ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาการเริ่มต้นธุรกิจจาก 5 ขั้นตอน 4.5 วัน เหลือเพียง 3 ขั้นตอน 2 วัน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจอีกด้วย นอกจากนี้ กรมฯ ได้สร้างความรับรู้และความเข้าใจถึงการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดทำคู่มือและสื่อวีดิทัศน์การจดทะเบียนฯ ผ่านเว็บไซต์กรมฯ การออกบูธประชาสัมพันธ์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการผ่านการอบรม/สัมมนาของกรมฯ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนงในการนำเสนอข่าวสารการจดทะเบียน e-Registration เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
"กรมฯ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจให้เข้ามาใช้บริการระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ซึ่งเป็นการให้บริการด้านการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์ที่ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้นจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ เปลี่ยนแปลง จนถึงเลิกประกอบธุรกิจ โดยทุกขั้นตอนสามารถดำเนินการผ่านระบบ e-Registration ได้ทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนฯ ลดการใช้เอกสาร ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการเดินทางมาติดต่อเจ้าหน้าที่ (นายทะเบียน) และสามารถดำเนินการได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันและช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ชีวิตในการดำเนินธุรกิจง่ายมากยิ่งขึ้น" นางกุลณีกล่าว
สำหรับด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) ในปี 2017 ไทยอยู่อันดับที่ 82 ส่วนปี 2018 อยู่อันดับที่ 42 (ดีขึ้น 40 อันดับ) จาก 190 ประเทศ โดยในการประเมินผลฯ ปี 2019 ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1) กรมฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์กับ 5 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มีทะเบียน โดยกรมฯ จะเป็นศูนย์กลางในการตรวจค้นข้อมูล ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลทรัพย์ที่มีทะเบียนโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ตามชื่อลูกหนี้ได้ 2) กรมฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจให้เป็นระบบจดแจ้ง ซึ่งผู้ขอจดทะเบียนสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนพร้อมชำระค่าธรรมเนียมได้ทันที โดยไม่ต้องรอการพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนจากเจ้าพนักงานทะเบียน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวใช้ระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที
"หลังจากการชี้แจงเสร็จสิ้น กรมฯ หวังว่าความตั้งใจจริงที่ได้ดำเนินการพัฒนากระบวนงานต่างๆ ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ จะทำให้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยในปี 2019 มีอันดับที่ดีขึ้น โดยคาดว่าไม่จะเกินอันดับที่ 20 ของโลก" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ
ทั้งนี้ ในทุกปีธนาคารโลกจะจัดทำรายงานการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของ 190 ประเทศทั่วโลก หรือ Doing Business ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอน ระยะเวลาการให้บริการ ค่าใช้จ่าย ระบบอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ โดยมีตัวชี้วัดในการสำรวจทั้งหมด 10 ด้าน ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ (Starting Business) การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนสินทรัพย์ การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการแก้ไขปัญหาล้มละลาย