พาณิชย์ ส่งคณะร่วมประชุมกรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ 23-24 พ.ค. เน้นหารือเสริมสร้างความเข้มแข็งการขนส่งทางบก-ทะเล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 16, 2018 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 10 (10th Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum) ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2561 ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้อ่าวเป่ยปู้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะเน้นหารือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการขนส่งทางทะเลและการขนส่งทางบก ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือระหว่างท่าเรือของประเทศสมาชิกรอบอ่าวเป่ยปู้

หัวข้อหลัก (Theme) ของการประชุมในครั้งนี้คือ "The Southern Transport Corridor-A New Route of International Trade Across Land and Over Sea" (ระเบียงการขนส่งทางตอนใต้-เส้นทางการค้าสายใหม่เหนือภาคพื้นและคาบสมุทร) โดยจะหารือเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือและการพัฒนาด้านการขนส่งในหลายรูปแบบ และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการทางศุลกากร

นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดเสวนากลุ่มย่อยใน 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายท่าเรือระหว่างอาเซียน – จีน (2) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน – คาบสมุทรอินโดจีน และ (3) การยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงของประเทศไทย โดยไทยพร้อมใช้จุดแข็งด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้ง ร่วมมือกับจีนในการขยายความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อยกระดับภาคการผลิตและการขนส่งโลจิสติกส์ไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตและตลาดรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป

โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้มาแล้ว 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) และทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน (มณฑลกว่างซี กวางตุ้ง และไหหลำ) และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม และไทย ทั้งนี้ ผู้แทนระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนและประเทศสมาชิกในภูมิภาคอีกทางหนึ่งด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ