นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่ วาระปี 2561 – 2563 แทนนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ที่พ้นวาระไปเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมว่า ถึงแม้การสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. คนใหม่จะยังไม่สิ้นสุด แต่มิได้มีผลกระทบต่อการบริหารงานของ กนอ. แต่อย่างใด โดยเฉพาะการดำเนินโครงการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เนื่องจาก กนอ. ได้กำหนดระบบการบริหารงานและกลยุทธ์การดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้รองผู้ว่าการปฏิบัติการ 3 เป็นผู้ดำเนินการ และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด
โดยปัจจุบัน การสรรหาและคัดเลือกผู้ว่าการกนอ. ที่ได้เริ่มดำเนินตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา คณะกรรมการสรรหาอยู่ในช่วงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และเหมาะสมต่อการขับเคลื่อนองค์กรในยุคใหม่ และคาดว่าจะสามารถเสนอผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในเร็วๆนี้
นายพสุ กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญต่างๆ ยังมีความก้าวหน้าด้วยทีมงานที่ทำงานเชิงบูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่อีอีซีที่มีความคืบหน้าอย่างและเป็นไปตามแผนของการดำเนินโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่กนอ. ได้เปิดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นการร่วมลงทุน(Market Sounding) ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไปแล้ว คาดว่าการศึกษาและวิเคราะห์โครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน และพร้อมประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน รวมถึงลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนธันวาคมปีนี้
พร้อมด้วยการดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดของโครงการในด้านต่างๆ อาทิ การจัดระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาระบบขนส่ง การใช้พลังงาน ซึ่งหลังจากที่ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจสอบถามข้อมูลในการร่วมพัฒนาเป็นจำนวนมาก และ กนอ.ยังได้ร่วมกับ สกรศ. เตรียมการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Total Solution Center) เพื่อให้บริการแก่นักลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งจะเปิดบริการในระยะต่อไปด้วย
นอกจากนี้ กนอ. ยังได้จัดสรรพื้นที่ลงทุนกว่า 11,000 ไร่ ใน 14 นิคมฯ ของจังหวัดระยอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี ที่พร้อมรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 ประเภทได้ทันที และนิคมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 15,000 ไร่ ใน 21 นิคม ซึ่งการพัฒนาส่วนต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ และยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง