พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังนายอูลริค ซาเกา (Ulrich Zachau) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และคณะวิจัยการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า แม้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยของไทยจะดีขึ้น แต่รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความสะดวก ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารโลกต่อไป เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศและภูมิภาคให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน
ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้พบปะกับผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และคณะวิจัยการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกอีกครั้ง ซึ่งไทยกับธนาคารโลกมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากว่า 70 ปี ครอบคลุมความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ การลงทุน การศึกษา การพัฒนาระบบราชการ แรงงาน และการปฏิรูปเศรษฐกิจ การหารือเมื่อปีที่แล้วธนาคารโลกยังได้ให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจในไทย แม้ปัจจุบันไทยมีนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ไทยยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมและยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ จึงหวังว่าธนาคารโลกจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันกับรัฐบาล
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ได้ให้ธนาคารโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของไทย พร้อมชื่นชมการทำงานของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เห็นถึงการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบและปฏิรูปงานบริการของภาครัฐให้เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในไทยอย่างชัดเจน เป็นผลให้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยประจำปี 2561 อยู่อันดับที่ 26 ดีขึ้น 20 อันดับ จากเดิมอันดับ 46 เมื่อปี 2560
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกไทย ยังชื่นชมการดำเนินการของนายกรัฐมนตรีและความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และการดำเนินนโยบายที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย อาทิ การปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินนโยบายประเทศไทย 4.0 โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้ไทยเกิดการพัฒนาอย่างก้าวหน้าต่อไปได้