กลุ่มมูบาดาลา ปิโตรเลียม จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ,กลุ่มโททาล บริษัทพลังงานรายใหญ่จากฝรั่งเศส และบริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท จากออสเตรีย เป็น 3 ผู้ประกอบการที่เดินทางมายื่นเอกสารเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification: PQ) เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับเอกสาร ส่งผลให้มีผู้ประกอบการทั้งหมด 5 ราย ซึ่งรวมกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และกลุ่มเชฟรอน ที่ได้เข้ายื่นเอกสารดังกล่าวเมื่อวานนี้ ขณะที่รัฐบาลเตรียมประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61
นายนาสเซอร์ อัล ฮาจรี รองประธานอาวุโสฝ่ายปฎิบัติการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม และนาย ราเช็ด อัลบลูชิ ประธานกรรมการ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เดินทางมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อยื่นเอกสารแสดงหลักฐานเพื่อเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น สำหรับทั้ง 2 แหล่ง คือเอราวัณ และบงกช
นายนาสเซอร์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) มองว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเป็นรูปแบบที่ชัดเจน ปัจจุบันบริษัทดำเนินการด้านสำรวจและขุดเจาะภายใต้ระบบดังกล่าวในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และตะวันออกกลาง ซึ่งก็ยังไม่พบปัญหาและอุปสรรคแต่อย่างใด ขณะเดียวกันบริษัทก็มีความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนให้กับไทย
สำหรับข้อกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องนั้น บริษัทก็มีประสบการณ์การผลิตปิโตรเลียมในปริมาณที่มากอยู่แล้ว อาทิ ผลิตในแหล่งดอลฟิน ตะวันออกกลาง ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ,แหล่ง SK320 ในมาเลเซีย 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งปิโตรเลียมในอินโดนีเซีย 90-115 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ส่วนข้อกำหนดเรื่องเงินลงทุนนั้น บริษัทก็มีเงินทุนหมุนเวียน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดที่รัฐบาลไทยกำหนดว่าเงินทุนสำหรับแหล่งเอราวัณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแหล่งบงกช 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านตัวแทนของกลุ่มโททาล กล่าวว่า วันนี้เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้น สำหรับแหล่งเอราวัณเพียงแหล่งเดียว ขณะที่ยังมีเวลาพิจารณาที่จะหาพันธมิตรเข้าร่วมทุน ซึ่งกลุ่มบริษัทก็จะพิจารณาให้ PTTEP เป็นพันธมิตรอันดับแรก
ปัจจุบัน กลุ่มโททาล เป็นผู้ถือหุ้นในแหล่งบงกช ที่มี PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ (operator) ซึ่งก่อนหน้านี้ PTTEP ประกาศว่าจะจับมือกับผู้ร่วมทุนรายเดิม คือ บริษัท โททาล อีแอนด์ พี ไทยแลนด์ ในการเข้าประมูลแหล่งบงกช เนื่องจากเป็นพันธมิตรการลงทุนที่ดี สามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่มีร่วมกันในการพัฒนาแหล่งบงกชได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท ได้เข้ายื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นทั้งแหล่งเอราวัณ และบงกช โดยได้เดินทางมายื่นเอกสารเป็นรายสุดท้าย
ส่วนกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber gruop ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอีก 1 รายที่ได้ลงทะเบียนยื่นเจตจำนงร่วมพิจารณาคุณสมบัติประมูลก่อนหน้านี้ ไม่ได้เดินทางมายื่นเอกสารในวันนี้
อนึ่ง รัฐบาลอยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 โดยเป็นการเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค.เปิดให้ยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification: PQ) ซึ่งมีผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด 6 ราย ขณะที่ในวันที่ 15-16 พ.ค.เปิดให้มายื่นเอกสาร PQ ก่อนจะประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พ.ค.61
หลังจากนั้นผู้ที่ผ่านคุณสมบัติจะจัดเตรียมการยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าประมูลระหว่างวันที่ 7 มิ.ย.-21 ก.ย.61 และให้ยื่นข้อเสนอการประมูลในวันที่ 25 ก.ย.61 ขณะที่คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือน ธ.ค.61 และลงนามในสัญญาเดือน ก.พ.62