น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงแนวโน้มภาวะการค้าภาคบริการในปี 2561 ว่า จากข้อมูลในไตรมาสแรกของปี 2561 ชี้ว่าภาคบริการยังคงรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะยังขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี
โดยดัชนีภาวะการค้าภาคบริการของไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 7.8% เทียบกับ 10.0% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวสูงสุดที่ 11.4% ส่วนสาขาสำคัญอื่นๆ ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการขายปลีก (2.6%) การขนส่ง (7.2%) การเงิน (7.1%) และอสังหาริมทรัพย์ (8.4%) เป็นต้น
สำหรับสาขาบริการที่มีศักยภาพและแนวโน้มขยายตัวได้ดี ได้แก่ สาขาขายส่งและการขายปลีก ที่พักแรม บริการด้านอาหาร สาขาขนส่ง บริการทางการเงิน สาขาสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์ โดยสาขาขายส่งและการขายปลีกมีแนวโน้มขยายตัวตามการขยายตัวของ E-commerce และการเพิ่มช่องทางขายของ E-Marketplace ที่มีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น สาขาที่พักแรม ขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง และกระแสการท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมไทย สาขาบริการด้านอาหารได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมหกรรมฟุตบอลโลก และการสนับสนุนจากธุรกิจรับส่งอาหารจากแพลตฟอร์มบริการทางออนไลน์ สาขาสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีตามกระแส Medical Tourism ซึ่งคาดว่าในระยะต่อไปจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักลงทุนมากขึ้น ทั้งในแง่ของการลงทุนและการทำการตลาดด้านสุขภาพ ในขณะที่สาขาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังมีแผนการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง การเข้ามาร่วมทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับที่ต่ำ
ขณะที่ในเดือนมี.ค. 61 ดัชนีภาวะการค้าภาคบริการของไทย อยู่ที่ระดับ 108.5 สูงขึ้น 3.6% (YoY) แต่แนวโน้มชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 4.3% ในเดือน ก.พ.61 โดยสาขาบริการสำคัญที่ ขยายตัวดี ได้แก่ การขายปลีก การเงิน การขนส่ง และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคบริการในเดือนมี.ค.ขยายตัว เกิดจากการขยายตัวสูงของการส่งออกบริการ (ดุลบริการรับภาคบริการ) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.15 แสนล้านบาท ดัชนีราคาหุ้นภาคบริการในตลาดหลักทรัพย์ และเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของ จำนวนนิติบุคคลและมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ลดลง ได้แก่ การจ้างงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาคบริการ และจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน
เมื่อพิจารณา ภาคบริการในรายสาขา จะพบว่าขยายตัว 8 สาขา โดยสาขาที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบด้วย 4 สาขา ได้แก่ กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย การศึกษา บริการสุขภาพ และกิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ ส่วนสาขาที่ยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า มีจำนวน 4 สาขา ได้แก่ การขายส่งและการขายปลีก การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขณะที่สาขาที่หดตัว มี 5 สาขา ประกอบด้วย การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน และศิลปะ
ในเดือนมีนาคมภาคบริการที่สำคัญยังคงขยายตัวดี โดยเฉพาะ สาขาที่พักแรมและร้านอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่เติบโตสูงสุดที่ 13.4% เนื่องจากรายได้จากการส่งออกบริการขยายตัวสูง โดยมีมูลค่า 1.88 แสนล้านบาท ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 16.3% ซึ่งมีจำนวน 3.5 ล้านคน การสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งมียอดคงค้างที่ 3.83 แสนล้านบาท ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้นทำให้ภาคเอกชนมีการขยายกิจการ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นสาขานี้ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนสาขาการขนส่งและสถานที่จัดเก็บสินค้า ขยายตัว 8.6% เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสาขาอื่นๆ โดยการขยายตัวในเดือนนี้เป็นผลมาจากจำนวนนิติบุคคลและมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุนขยายตัวสูง โดยเฉพาะในสาขาการขนส่งและขนถ่ายสินค้าฯ ในขณะที่สาขาการเงินและการประกันภัยขยายตัว 8.1% เนื่องจากการขยายตัวสูงของมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน โดยเฉพาะในสาขาบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวสูงถึง 35.6% โดยมีสินเชื่อคงค้าง 3.68 ล้านล้านบาท
สำหรับสาขาการขายส่งและขายปลีกขยายตัว 2.3% ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิขยายตัวสูงถึง 17.8% ซึ่งมีมูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจการขายส่งเชื้อเพลิงเหลวมีมูลค่าทุนจดทะเบียนสูงสุด ขณะที่ธุรกิจ E-commerce มีมูลค่าการลงทุนของผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนมีนาคมมีมูลค่ารวมมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตามจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนกระจุกตัวอยู่ในเพียง 9 จังหวัดเท่านั้น โดย เกือบครึ่งอยู่ใน กทม. ขณะที่ทุนจดทะเบียนเฉลี่ยอยู่ที่หนึ่งล้านบาท ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบจำนวนมากซึ่งมีทุนการดำเนินธุรกิจไม่มากนักยังไม่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล ทางกระทรวงพาณิชย์ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้เร่งจดทะเบียนนิติบุคคล เนื่องจากทางกระทรวงฯ มีนโยบายในการพัฒนา/ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถปรับตัวกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การจดทะเบียนนิติบุคคลยังเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของภาครัฐ เป็นต้น
สำหรับสาขาสำคัญอื่น ๆ เช่น การศึกษา (4.9%) บริการสุขภาพ (2.4%) และ กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ (3.9 %) ขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัว 1.3% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี ตามการหดตัวของการจ้างงาน จำนวนนิติบุคคล และมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุนเนื่องจากมีการเร่งลงทุนสูงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งมียอดคงค้างที่ 6.43 แสนล้านบาท ประกอบกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี ชี้ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังไปได้ดี ส่วนภาคการก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ 7.1% เป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีราคาหุ้นสาขาก่อสร้างและการจ้างงาน สอดคล้องกับผู้ประกอบการที่แสดงความกังวลในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน