สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/61 ขยายตัว 4.8% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 4.0% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส
ทั้งนี้ เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 2.0% จากไตรมาส 4/60 (QoQ_SA)
ในด้านการใช้จ่ายในไตรมาส 1/61 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน และการขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะที่ในด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.6% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการขยายตัวเร่งขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัว 9.4% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัว 14.8%
ขณะที่การใช้จ่ายด้านบริการ สินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัว 4.9% 2.4% และ 2.0% ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้า สินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ที่ขยายตัว 9.8% 10.8% และ 2.0% ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.7 เทียบกับระดับ 65.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 1.9% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี (ไม่รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) ที่ 21.0% ใกล้เคียงกับ 21.1% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการลงทุนรวม เพิ่มขึ้น 3.4% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขยายตัว 3.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัว 3.4% ปรับตัวดีขึ้น จากการลดลง 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 203.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 228.5% โดยเป็นมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 165.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.3 พันล้านบาท
ส่วนการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 4.0% เทียบกับการลดลง 6.0% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 11.5% ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลง 0.3%
ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 61,788 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า 9.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 5.0% และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 4.7% กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (21.1%) มันสำปะหลัง (28.7%) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (41.1%)ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (15.4%) รถยนต์นั่ง (18.5%) รถกระบะและรถบรรทุก (1.8%) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (9.4%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (16.1%) และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (37.7%) เป็นต้น
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในทุกตลาดทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีนญี่ปุ่น อาเซียน (9) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 11.2% เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 1.3% เทียบกับการขยายตัว 3.9% ในไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับภาคเกษตรกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง 6.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 1.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก (31.8%) ยางพารา (12.0%) ปาล์มน้ำมัน (22.0%) ข้าวโพด (41.9%) กุ้ง (13.4%) และสุกร (3.3%) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง (6.0%) ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง 12.3% ตามการลดลงของราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน และการลดลงจากฐานที่สูงของราคาอ้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (14.2%) ราคามันสำปะหลัง (43.8%) และราคาข้าวโพด (29.5%) เป็นต้น การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมปรับตัวลดลง 4.8%
ส่วนสาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวในเกณฑ์ดี 3.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 30 – 60% ที่ขยายตัว 7.2% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30%) ที่ขยายตัว 4.0% ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่า 60%) ลดลงเล็กน้อย 0.6% เนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมบางรายการ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 72.4% เพิ่มขึ้นจาก 67.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 69.6% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (12.0%) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (20.6%) น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ ( 38.8%) พลาสติกและยาง (8.7%) และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (10.2%) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (-31.2%) การต้ม การกลั่นและการผสมสุรา (-29.6%) และผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่นๆ (-4.3%) เป็นต้น
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวในเกณฑ์สูง 12.8% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 15.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.61 ล้านคน ขยายตัวในเกณฑ์สูง 15.4% สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว และรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 840.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.0% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 267.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 76.79% เพิ่มขึ้นจาก 69.44% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 73.35% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
และ สาขาการขนส่งและการคมนาคม ขยายตัว 7.1% เทียบกับการขยายตัว 8.8% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบกทางอากาศ และทางน้ำขยายตัว 3.4% 12.5% และ 9.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมขยายตัว 9.5% สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม