(เพิ่มเติม1) สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์ GDP ปี 61 เป็นโต 4.2-4.7% หลัง Q1/61 โตพุ่ง 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2018 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 61 เป็นเติบโต 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ในช่วง 3.6-4.6% หลังจากไตรมาส 1/61 เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.0%

"เศรษฐกิจไตรมาสแรกโตกว่าที่เราคาดการณ์ ประกอบกับมีการปรับสมมติฐานรายรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งสองปัจจัยนี้ทำให้เราปรับเพิ่มค่ากลาง GDP ปีนี้จากเดิม 4.1% เมื่อรอบที่แล้วมาเป็น 4.5% ซึ่งอยู่ในระดับกรอบบนของประมาณการเดิม" นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. แถลงเช้าวันนี้

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มาจาก การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกและการผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และการปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 8.9% การบริโภคภาคเอกชนและการสะสมทุนถาวรรวมขยายตัว 3.7% และ 4.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7-1.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของ GDP

รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ได้มีการปรับสมมติฐานที่ใช้คาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.3% สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในปีนี้ยังมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยปรับสมมติฐานใหม่เป็น 31.50 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ประเมินไว้ 32 บาท/ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้จะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากของเดิมที่ระดับ 55-65 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% จากของเดิมที่คาดไว้ที่ 2.18 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ การลงทุนภาครัฐจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ส่วนการเบิกจ่ายภาครัฐก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเช่นกัน แม้การเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงไตรมาสแรกจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม

ส่วนกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไรนั้น จากผลการศึกษาของหลายน่วยงาน พบว่าผลกระทบเริ่มมีน้อยลง เนื่องจากประเทศต่างๆ มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว และในกรณีของประเทศไทยนั้นคงจะไม่ได้มีแต่ผลกระทบเพียงอย่างเดียว เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีราคาเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้รุนแรงหรือส่งผลกระทบที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทยแต่อย่างใด

นายวิชญายุทธ กล่าวว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมีแนวโน้มให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วคงจะไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก โดยเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งราคาน้ำมัน และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อกำลังซื้อโดยรวมของประชาชน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.2% (ค่ากลางของคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ที่ 0.7-1.7%) ก็ถือว่าอยู่ในกรอบนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 1-4% ในปีนี้

รองเลขาธิการ สศช. ยังเชื่อว่า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยจนน่ากังวล หากยังอยู่ในขอบเขตจำกัดตามที่แต่ประเทศได้ประกาศมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันออกมา

อย่างไรก็๖าม สภาพัฒน์ ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ 1.การผลิตภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังจากฐานที่สูงขึ้น 2.ราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ

และ 3.ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศที่สำคัญๆ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะการคลัง และดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ และปริมาณพันธบัตรในตลาดโลก

สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 61 นี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก 2.เตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้เพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน 3.สนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะภาคการส่ออก การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว 4.ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การเบิกจ่ายงบลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ