พพ.จับมือ 3 หน่วยงาน ลงนาม MOU ผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายด้านอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2018 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดงานลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถโดยสารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและความปลอดภัยในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ระหว่าง พพ. กรมการขนส่งทางบก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสมาคมสหพันธ์การขนส่งทางบกไทย

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันทั้ง 4 ฝ่าย ผลักดันการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถโดยสารอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้การบูรณาการบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน เช่น ในด้านพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม จะมีการจัดทำคู่มือมาตรฐานการขับรถขนส่งทั่วไปและการขับขี่รถทักษะขั้นสูง ส่วนด้านการส่งเสริมได้มุ่งเน้นในเรื่องการสร้างปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย การส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาการจัดการขนส่งด้วยรถบรรทุกหรือรถโดยสาร การกำหนดอัตราค่าจ้างให้เป็นตามมาตรฐานฝีมือ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการยกระดับพนักงานขับรถ การส่งเสริมการพัฒนาศูนย์ข้อมูลด้านขนส่ง เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดี พพ. กล่าวว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในภาคขนส่งมีสัดส่วนการใช้พลังงานมากที่สุดถึงร้อยละ 40.6 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ โดยเฉพาะการใช้พลังงานในการขนส่งทางถนน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 78 ของรูปแบบการขนส่งทั้งหมด ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องลดการใช้พลังงานในส่วนนี้ โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านแผนอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง ที่ประกอบไปด้วย 11 มาตรการหลัก

สำหรับมาตรการการขับขี่เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นหนึ่งในมาตรการหลักที่ พพ. ได้ดำเนินการอยู่ โดย พพ. ได้จัดทำ "โครงการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในธุรกิจการขนส่งสินค้า" เพื่อมุ่งเน้นในเรื่องการฝึกอบรมพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกขนส่งสินค้า การยกระดับวิชาชีพเพื่อให้เป็นผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพ ตระหนักถึงความปลอดภัยและประหยัดพลังงานไปพร้อมกัน โดยคาดว่าโครงการนี้จะส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงาน 8 ktoe/ปี คิดเป็นปริมาณน้ำมันดีเซล 9.2 ล้านลิตร/ปี หรือเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 248 ล้านบาท/ปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 50 ล้านกิโลกรัม/ปี

ด้านนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมฯ มีโครงการ Sure Driving Smart Driver ที่เป็นหนึ่งในโครงการยกระดับคุณภาพของผู้ขับรถ โดยเฉพาะรถโดยสารและรถบรรทุกสินค้า ซึ่งกรมฯ ร่วมกับโรงเรียนสอนขับรถเอกชน ที่นอกจากการฝึกทักษะการขับรถแล้ว ยังได้เน้นถึงการอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ถนนและสภาพการจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนถนนและทำงานร่วมกับระบบ GPS Tracking ที่กรมฯ ได้ผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลและกำกับติดตามการขับขี่ให้เกิดความปลอดภัย อีกทั้งได้มีการส่งเสริมและให้การรับรองแก่ผู้ผ่านมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก หรือ Q Mark ซึ่งมีเกณฑ์พิจารณา 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการองค์กร การจัดการระบบการขนส่ง ด้านบุคลากร ด้านยานพาหนะ และการให้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยไม่ก่อผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรเทคนิคการขับรถให้ปลอดภัยและประหยัดของกรมฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านมาตรฐานวิชาชีพสำหรับผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถโดยสารในธุรกิจขนส่ง นำไปสู่การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งกรมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการขับขี่ และลดต้นทุนการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง

นายทองอยู่ คงขันธ์ นายกสมาคมสหพันธ์การขนส่งทางบกไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีกลุ่มเครือข่ายด้านการขนส่งสินค้า รถโดยสารทั่วประเทศ และรถเครนที่ให้บริการอยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และงานบรรเทาสาธารณภัย เป็นสมาชิกอยู่ 11 สมาคม พร้อมด้วยเครือข่ายด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าอื่น ๆ อีก 6 สมาคม และผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ รวมกว่า 400,000 คัน ซึ่งตลอดเวลา 20 ปีของการก่อตั้งสมาคมฯ ได้รณรงค์กับผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในเรื่องการใช้ถนนและแก้ปัญหาการจราจร รวมทั้งเรียกร้องให้มีระบบการบริการและอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด

การทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐภายใต้นโยบายการพัฒนาผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถโดยสารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและความปลอดภัยครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาพนักงานขับรถบรรทุกให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และการเพิ่มทักษะ ด้านการควบคุมยานพาหนะหรือการขับรถขนาดใหญ่ การใช้เส้นทางและการจราจร ร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยและการประหยัดพลังงาน เช่น ระบบ GPS และระบบ IT ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านการขนส่ง

การจับมือลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันในครั้งนี้ ถือว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน ที่ต้องการลดความเข้มของการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2579 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ