ครม.ไฟเขียวงบฯ 145.30 ลบ.ให้รฟท. ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตามแนวทาง EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2018 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 145.30 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ

ทั้งนี้ ในการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่เสนอมานั้น ให้รฟท. คำนึงถึงความสอดคล้องของระยะเวลาการดำเนินการโครงการดังกล่าว ความเชื่อมโยงในการใช้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการพัฒนาระบบจัดการสินค้า บริการ และโลจิสติกส์ของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกประกอบการดำเนินการด้วย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) แผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และ ท่าเรือมาบตาพุดในอนาคต เป็นต้น

การขอรับการสนับสนุนงบกลางในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.60 ที่มอบให้ รฟท. เร่งรัดจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 200 ล้านบาท

ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก - ฉะเชิงเทรา - ศรีราชา ทบทวนรายละเอียดเพิ่มความจุของทางรถไฟ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงหัวหมาก - ฉะเชิงเทรา (ปัจจุบันมีทางรถไฟ 3 ราง) โดยจะก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น 1 ทาง โดยสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟทางคู่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (แหลมฉบัง - ศรีราชา - ฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย) และเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงหนองคาย - ขอนแก่น - นครราชสีมา - แก่งคอย - ฉะเชิงเทรา ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดการเพิ่มระบบอาณัติสัญญาณและระบบไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อรองรับการให้บริการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับระบบรถไฟทางไกล และศึกษาความเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ช่วงฉะเชิงเทรา - ศรีราชา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกในการให้บริการ

และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา - มาบตาพุด ศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น 1 ทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟสู่ท่าเรือสำคัญ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมโดย รฟท.ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ