นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินมาตรการหลัก 3 มาตรการในการบริหารจัดการสับปะรดที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนนี้ คือ มาตรการแรกให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานงานกับสหกรณ์โคนมไทยเดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้กรมปศุสัตว์เข้าไปแนะนำแนวทางในการใช้สับปะรดผลอ่อนมาผลิตเป็นอาหารโคนม
มาตรการต่อมาคือ ให้มีการกำหนดจุดรวบรวมผลผลิตสับปะรดจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง ซึ่งในขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ สถานการณ์ผลผลิตล้นตลาดเริ่มคลี่คลาย เนื่องการปริมาณผลผลิตมีความสอดคล้องกับโควตาที่โรงงานแปรรูปสับปะรดมีความต้องการ ดังนั้น จึงคงเหลือจุดรวบรวมสับปะรดของสหกรณ์เพียงที่จังหวัดระยองเท่านั้น
ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในจังหวัดระยอง มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่จะดำเนินการรวบรวมสับปะรดสดเพื่อการบริโภค 5 แห่ง คือ สหกรณ์การเกษตรเขาชะเมา จำกัด สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด สหกรณ์นิคมฯ ระยอง จำกัด กลุ่มเกษตรกรทำไร่สับปะรดมะขามคู่ และกลุ่มเกษตรกรทำไร่สับปะรดตำบลซำฆ้อ เบื้องต้นคาดว่าจะรวบรวม 1,000 ตัน ซึ่งในการเปิดจุดรวบรวมผลผลิตดังกล่าว สหกรณ์จำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อมารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ทางเกษตรจังหวัดระยองได้เสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชจ.) ขอสนับสนุนเงินชดเชย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้กับสหกรณ์ กิโลกรัมละ 2.50 บาท
ส่วนมาตรการสุดท้ายกำหนดให้จัดงานประชาสัมพันธ์การบริโภคสับปะรด จะจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด กับสหกรณ์โคนมนครลำปาง จำกัด และบมจ. สยามแม็คโคร (MAKRO) พร้อมปล่อยขบวนสินค้าจากสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง ไปยังศูนย์กระจายสินค้าแม็คโคร และสหกรณ์โคนมนครลำปาง จำกัด ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ที่สหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด โดยงานดังกล่าว นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะเป็นประธานเปิดงานและมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประธานสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง ภาคเอกชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานด้วย